ก่อนหน้าที่ แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนไต้หวัน ก็ได้มีเสียงคัดค้านและคำเตือนจากจีนมาโดยตลอดว่า ไม่ต้องการให้เพโลซีเยือนไต้หวัน เพราะจะเท่ากับเป็นการสนับสนุนและรับรองการเรียกร้องเอกราชของไต้หวัน ซึ่งขัดแย้งกับนโยบาย “จีนเดียว” และการปกครองของจีน
นั่นทำให้หากเพโลซีต้องการเดินทางเยือนไต้หวันจริงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจถูกจีนขัดขวาง
สถานทูตจีน ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลไทย สนับสนุนจุดยืนอย่างที่เคยเป็น
ตอบโต้ เพโลซี เยือนไต้หวัน "จีนเริ่มแบนสินค้านำเข้า"
“แนนซี เพโลซี” แจงเหตุผลชัด ๆ ทำไมต้องไปเยือนไต้หวันให้ได้?
ในความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น บอนนี กลาเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของกองทุนเยอรมันมาร์แชลแห่งสหรัฐฯ มองว่าสิ่งที่อาจเป็นไปได้คือ จีนอาจใช้เครื่องบินทหารขัดขวางเครื่องบินของเพโลซี หรือแม้แต่ป้องกันไม่ให้เครื่องบินของเธอลงจอด
หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ไต้หวันก็มีแนวโน้มส่งเครื่องบินของตัวเองเข้าสกัดหากเครื่องบินกองทัพจีนบินเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศหรือ ADIZ ของไต้หวัน โดยที่ผ่านมาจีนก็เคยมีประวัติบุกรุกเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันมาแล้ว
ขณะที่ หยางหมิงเจี๋ย ผู้อำนวยการของสถาบัน Institute of Taiwan Studies in Chinese Academy of Social Sciences ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองชั้นนำของจีน ระบุว่า อีกทางเลือกที่กองทัพจีนอาจทำก็คือการประกาศให้เขตน่านฟ้าและอาณาเขตทางทะเลรอบเกาะไต้หวันเป็นเขตหวงห้ามสำหรับการซ้อมปฏิบัติการทางทหารเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินของเพโลซีลงจอด
การคาดเดาต่าง ๆ นานานี้ทำให้เมื่อวานเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกพากันแห่ติดตามการเส้นทางการบินของเครื่องบินที่คาดว่าเพโลซีจะโดยสารไป คือเครื่องบินกองทัพอากาศสหรัฐฯ โบอิ้ง C-40C ซึ่งแสดงผลใน Flightradar24.com นั้น
จากการติดตามเส้นทาง พบว่า โบอิ้ง C-40C เดินทางออกจากมาเลเซียประมาณ 16.00 น. ตัดลงผ่านช่องแคบมะละกา เลี้ยวขวาตัดผ่านอินโดนีเซีย แล้วอ้อมขึ้นเหนือผ่านด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์เพื่อมุ่งหน้าตรงไปยังไต้หวัน
โดยตั้งแต่เริ่มต้นนั้น เที่ยวบินไม่ได้แจ้งจุดหมายปลายทาง (N/A) ก่อนจะยืนยันจุดหมายปลายทางว่าเป็นท่าอากาศยานไทเปของไต้หวันเมื่อเวลาประมาณ 21.46 น. ตามเวลาประเทศไทย
ทั้งนี้ คาดว่าเส้นทางการเดินทางแบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเลี่ยงการเดินทางผ่านทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศอ้างสิทธิ์ และจีนสร้างฐานทัพอากาศเอาไว้บนเกาะหลายเกาะ จึงเลือกเดินทางอ้อมและเข้าสู่น่านฟ้าไต้หวันจากทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Ragan ลอยลำรออยู่ก่อนแล้ว และเข้าสู่แผนดินไต้หวันจากทางใต้ ทำให้ทั้งกองทัพอากาศไต้หวันและเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ สามารถให้การคุ้มกันทางอากาศได้
แต่สถานการณ์ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาหลังจากนี้คือ เพโลซีจะสามารถเดินทางออกจากไต้หวันได้อย่างง่ายดายเหมือนขามาหรือไม่ เมื่อกองบัญชาการยุทธภูมิตะวันออกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People's Liberation Army Eastern Theatre Command) ประกาศว่า ตั้งแต่คืนวันอังคาร (2 ส.ค.) เป็นต้นไป จะมีการซ้อมรบต่อเนื่องทางอากาศและในทะเลรอบ ๆ ไต้หวัน
โดยการซ้อมรบนี้จะประกอบด้วยการซ้อมรบร่วมทางอากาศและทางทะเลในภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน การซ้อมยิงกระสุนจริงในช่องแคบไต้หวัน และการทดสอบขีปนาวุธในทะเลตะวันออกของไต้หวัน
ซึ่งจากการสังเกต พบว่า ตำแหน่งการซ้อมรบของกองบัญชาการยุทธภูมิตะวันออกนี้วางตัวเป็นเหมือนสามเหลี่ยมที่ล้อมไต้หวันไว้ จนดูผิวเผินแล้วเหมือนว่าจะทำให้การเดินทางออกจากไต้หวันของเพโลซียากกว่าขามา
ในแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อคืนนี้ ระบุในตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นการตอบรับการเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างเด็ดเดี่ยว”
ตอกย้ำจุดยืนสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน จีนใช้กำลังทางการทหาร
จีนเตรียมซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบไต้หวัน ตอบโต้การเยือนของ “เพโลซี”