หนึ่งในทฤษฎีการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เคยครองโลกเมื่อหลายสิบล้านปีห่อนอย่างไดโนเสาร์ คือทฤษฎีการตกลงมาของอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่กระแทกเข้ากับพื้นโลก จนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลก 75% ตายและไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์
แม้ทฤษฎีที่ว่าการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เกิดจากอุกกาบาตนอกโลกจะยังไม่ใช่ข้อสรุปเพียงหนึ่งเดียว แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า วันหนึ่งมนุษยชาติจะไม่เจอแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความพยายามในการปกป้องโลกจากการถูกอุกกาบาตชน
นาซาพบ “อินทรียวัตถุ” บนดาวอังคาร หลักฐานว่าอาจเคยมีสิ่งมีชีวิต?
เห็นวงแหวนชัดแจ๋ว ภาพดาวเนปจูนจากกล้อง “เจมส์ เว็บบ์”
“เนบิวลาทารันทูลา” ภาพใหม่สุดอลังการจากกล้อง เจมส์ เว็บบ์
องค์การนาซา (NASA) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่พยายามหาวิธีปกป้องโลก และได้เสนอแผนการทดสอบการเปลี่ยนเส้นทางดาวเคราะห์น้อยคู่ (Double Asteroid Redirection Test) หรือย่อว่า DART ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษที่แปลว่า ลูกดอก หรือหลาว
ภารกิจ DART มีขึ้น เพื่อศึกษาการเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยที่อาจเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกในอนาคต โดยยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยมีกำหนดพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ในคืนวันนี้ (26 ก.ย.) เวลา 23.14 น. ตามเวลา GMT หรือตรงกับวันที่ 27 ก.ย. เวลา 6.14 น. ตามเวลาประเทศไทย
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบและศึกษาวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเกือบ 30,000 ดวงในระบบสุริยะที่มีวงโคจรใกล้โลก ซึ่งดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดผ่านวงโคจรโลก ก็จะมีความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจึงต้องการเตรียมพร้อมตั้งรับความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกในอนาคต
ตามทฤษฎีแล้ว หากนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่มีวิถีการโคจรพุ่งชนโลก องค์การอวกาศจะส่งยานสำหรับพุ่งชน (Impactor) เพื่อเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยให้พ้นจากโลก แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการให้แนวคิดนี้เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ต้องมีการทดลองจริงเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต จึงเกิดเป็นภารกิจ DART ขึ้นมา
ศ.อลัน ฟิตซ์ซิมมอนส์ นักดาราศาสตร์และสมาชิกทีมภารกิจ DART กล่าวว่า “มันเป็นเหมือนกับเกมบิลเลียดระดับจักรวาลที่ซับซ้อนมาก ... สิ่งที่เราต้องการทำคือใช้พลังงานเท่าที่เราจะทำได้จาก DART เพื่อเคลื่อนดาวเคราะห์น้อย”
ภารกิจพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยครั้งนี้จะถูกบันทึกโดยกล้องของ DART และกล้องอีก 2 ตัวบน ลิเซียคิวบ์ (LiciaCube) ยานสำรวจขนาดเล็กของอิตาลี
แม้จะไม่มีการตรวจพบว่าจะมีดาวเคราะห์น้อยขนาด 10 กว่ากม. ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จะพุ่งตรงมายังโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงเล็ก ๆ ซึ่งตรวจสอบได้ยากกว่าก็สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลได้ ตัวอย่างเช่นเหตุอุกกาบาตตกเหรือเชลยาบินสก์ (Chelyabinsk) ในรัสเซียเมื่อปี 2013 แม้จีขนาดเพียง 20 เมตร แต่ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 1,600 คน และสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย
ภารกิจ DART เป็นยานอวกาศที่ใช้งบประมาณ 330 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.25 หมื่นล้านบาท) จะพุ่งกระแทกดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสด้วยความเร็วเกือบ 7 กิโลเมตรต่อวินาที (เร็วเท่ากับการเดินทางจากจุดใต้สุดของไทยไปยังจุดเหนือสุดด้วยเวลาเพียง 4 นาที)
“ไดมอร์ฟอส (Dimorphos)” เป็นดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยอีกดวงชื่อ “ดีดิมอส (Didymos)” ซึ่งดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงไม่มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลก และการพุ่งชนของยาน DART จะไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ชนโลกแต่อย่างใด
ศ.โคลิน สนอดกราสส์ นักดาราศาสตร์และสมาชิกทีมวิทยาศาสตร์ภารกิจ DART กล่าวว่า “ไม่มีอันตรายใด ๆ ในเรื่องนี้ ... เราแค่เปลี่ยนวงโคจรของมันรอบดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่กว่าเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ มันไม่สามารถมายังโลกได้”
นักดาราศาสตร์จะใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินเพื่อสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยก่อนและหลังการชนกับ DART
หลังจากการชนกัน นักวิทยาศาสตร์จะคำนวณว่า ไดมอร์ฟอสถูกกระแทกให้ช้าลงเพียงใด ขณะนี้ไดมอร์ฟอสกำลังโคจรรอบดีดิมอสด้วยคาบ 11 ชั่วโมง 55 นาที โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หลังการพุ่งชนของ DART จะทำให้คาบการโคจรสั้นลงประมาณ 10 นาที
ทั้งนี้ การสังเกตการณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของคาบการโคจรจากทางทฤษฎี ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และพร้อมรับมือกับดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งชนโลกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยาน DART จะพลาดเป้าในการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสก็มีความเป็นไปได้ (แม้จะน้อยมาก) และหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจะนำข้อมูลและประสบการณ์จากยาน DART ในฐานะภารกิจทดสอบ มาเป็นรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยต่อไป
เรียบเรียงจาก NARIT / The Guardian
ภาพจาก NASA / Getty Image