ฤดูหนาวใกล้มาเยือนยุโรปเต็มที แต่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงประสบกับปัญหาวิกฤตการขาดแคลนพลังงานและราคาพลังงานพุ่งสูง ซึ่งทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่า ฤดูหนาวที่กำลังมาถึงนี้ อาจเป็นฤดูหนาวที่สาหัสที่สุดสำหรับประชาชนในยุโรป
ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ชาติยุโรปใช้ในการผลิตไฟฟ้า สร้างความอบอุ่น ใช้ในการทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจึงเป็นวิกฤตถึงตายสำหรับยุโรปเลยทีเดียว
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรัสเซียไปยุโรปรั่ว อุบัติเหตุหรือฝีมือของใครบางคน?
รัสเซียยื่นเงื่อนไขชาติยุโรป ไม่เลิกคว่ำบาตร ไม่เปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
ชีวิตช่วงฤดูหนาวในยุโรปอาจเลวร้ายไปอีก 5-10 ปี หลังค่าก๊าซ-ค่าไฟพุ่ง
ทำไมยุโรปเกิดวิกฤตพลังงาน?
สาเหตุหลักที่ยุโรปกำลังประสบกับวิกฤตขาดแคลนพลังงานนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักมีความเกี่ยวข้องกับสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ยุโรปได้รับก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียน้อยลงจากเดิมถึง 75%
รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียุโรปเป็นฐานลูกค้าหลัก เกือบครึ่งหนึ่งของก๊าซธรรมชาติที่ประเทศยุโรปใช้ในแต่ละปีก็มาจากรัสเซีย
ทางรัสเซียเปิดเผยว่า วิกฤตพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปนี้ “เป็นผลลัพธ์จากการที่ชาติยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรฐกิจกับรัสเซีย”
ที่ผ่านมา ยุโรปพยายามเสาะหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไปจากรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งก๊าซอื่น หรือแหล่งพลังงานทดแทน และต้องใช้นโยบายขอความร่วมมือภาคธุรกิจและครัวเรือนลดการใช้พลังงานในประเทศ
อดัม แพนครัตซ์ ศาสตราจารย์จากสถาบันธุรกิจเซาเดอร์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย บอกว่า ความจริงแล้ว ยุโรปมีแหล่งก๊าซธรรมชาติของตัวเอง
“แต่เนื่องจากยุโรปต้องการมูฟออนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงไม่ต้องการขุดก๊าซธรรมชาติเหล่านั้นขึ้นมาใช้ และพึ่งพาก๊าซจากภายนอกแทน ทำให้เมื่อถูกจัดเส้นทาง” แพนครัตซ์กล่าว
และแม้ยุโรปจะต้องการขุดก๊าซธรรมชาติของตัวเองก็อาจไม่ทันท่วงที เพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวและวางแผนการขุดเจาะ ไม่ใช่นึกอยากทำก็จะสามารถทำได้ทันที
หากขาดพลังงาน ยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?
อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เดินหน้าไปได้ เมื่อขาดแคลนพลังงาน ก็จะส่งผลอย่างยิ่งต่อกำลังการผลิตสินค้าบริการบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มนม ขนมปัง เนื้อสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ณ เดือน ส.ค. 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ราคาสินค้าประเภทเนยปรับราคาสูงขึ้น 80% ชีสแพงขึ้น 43% เนื้อวัวราคาสูงขึ้น 27% ส่วนปุ๋ยแพงขึ้นเฉลี่ย 60%
ซึ่งปุ๋ยที่แพงขึ้นก็ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก กว่า 70% ในยุโรป ตัดสินใจหยุดทำไร่ทำสวนกันชั่วคราว และส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังราคาสินค้ากลุ่มการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกันไป
ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า หากยุโรปมีพลังงานไม่พอ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถทนความหนาวเย็นได้
ไซมอน ฟรานซิส ผู้ประสานงานจากกลุ่ม End Fuel Poverty Coalition กล่าวว่า “ภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง (Fuel Poverty) นั้น โดยพื้นฐานแล้วที่ภาวะเมื่อผู้คนไม่สามารถทำให้บ้านของพวกเขาอบอุ่นได้ และนั่นทำให้เกิดปัญหาใหญ่”
เขาอธิบายว่า “ถ้าคุณมีภาวะสุขภาพอยู่ก่อน เช่น โรคหอบหืด หรือโรคหัวใจ หรือกำลังพักฟื้นหลังการผ่าตัด หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ การอาศัยอยู่ในบ้านที่เย็นและชื้นเพราะขาดพลังงานที่สร้างความอบอุ่น จะทำให้ภาวะสุขภาพเหล่านั้นทรุดตัวลงกว่าเดิมได้”
ยุโรปจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้หรือไม่?
มีรายงานว่า ยุโรปขณะนี้สามารถบรรลุเป้าหมายสำรองก๊าซธรรมชาติไว้ในคลังพลังงานให้ได้ 80% ของความจุก่อนเดือน พ.ย. แล้ว จึงคาดว่าน่าจะมีพลังงานเพียงพอที่จะอยู่รอดในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
แต่อย่างที่มีภาษิตว่า “แผนการอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า” การที่ยุโรปจะผ่าพ้นฤดูหนาวไปได้ด้วยดีหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์อุณหภูมิในพื้นที่ด้วย หากยุโรปเจอกับ “ฤดูหนาวปกติ” ก็จะไม่มีปัญหา แต่หากเผชิญกับ “ฤดูหนาววิปริตสุดขั้ว” ก็อาจทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่นเพิ่มขึ้น และก๊าซธรรมชาติที่สำรองไว้อาจไม่เพียงพอ
แพนครัตซ์บอกว่า “สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ เกิดฤดูหนาวสุดขั้วขึ้นในยุโรป ถ้าเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจของยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะ ‘ร่วงตกอย่างเสรี (Freefall)’ โดยสมบูรณ์ … พวกเขาจะไม่สามารถผลิตอะไรได้เลย เพราะมันแพงเกินไป … และอย่างไรเสีย รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการส่งก๊าซเพื่อให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือนของผู้คนมากกว่าจะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม”
จนถึงขณะนี้ ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางของยุโรปกล่าวว่า ในปีนี้ ฤดูหนาวที่ยุโรปจะเผชิญอาจมีลักษณะ หนาวกว่า แห้งกว่า และลมแรงน้อยกว่า
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ยุโรปน่าจะสามารถผ่านพ้นฤดูหนาวในปีนี้ไปได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือสถานการณืในปีถัดไป
คาร์ลอส ตอร์เรส ดิแอซ หัวหน้าฝ่ายพลังงานของ Rystad Energy กล่าวว่า “ผมคิดว่าไม่น่าจะมีวิกฤตขนาดใหญ่ที่ทำให้จู่ ๆ ไฟทั่วยุโรปดับลง แต่แน่นอนว่าต้องมีการปันส่วนและจิตสำนึกบางอย่างที่คุณไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้”
เขาเสริมว่า “ยุโรปบอกว่าเราจะผ่านฤดูหนาวนี้ไปได้ แต่คลังพลังงานสำรองในปีนี้ส่วนมากเป็นก๊าซรัสเซียอยู่มาก ดังนั้นตอนนี้ หากเราตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ยุโรปจะไม่มีก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอีกแล้ว มันก็จะเป็นเรื่องยากมากที่จะเติมคลังเก็บพลังงานสำรองอีกครั้งสำหรับฤดูหนาวหน้า”
เรียบเรียงจาก Al Jazeera
ภาพจาก AFP