เบน เบอร์นันเก อตีดประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐอีก 2 คน คือ ดักลาส ไดมอนด์ และฟิลิป ดิบวิก เป็นผู้ที่คว้า “รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์” ประจำปี 2022 ไปครอง จากผลงานการศึกษาเกี่ยวกับระบบธนาคารและวิกฤตการเงิน
ราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนกล่าวว่า ผลงานของทั้งสาม ซึ่งเผยแพร่ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เป็นรากฐานสำหรับความเข้าใจสมัยใหม่ของเราว่า เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีธนาคาร และการล่มสลายของธนาคารสามารถสามารถทำให้เกิดการล่มสลายทางการเงินได้อย่างไร
นักเคลื่อนไหว-กลุ่มสิทธิมนุษยชนรัสเซีย-ยูเครน คว้า “โนเบลสันติภาพ”
3 นักวิทย์คว้า "โนเบลฟิสิกส์" วางรากฐานควอนตัมยุคใหม่
ไขความลับวิวัฒนาการมนุษย์ นักวิทย์สวีเดนคว้า “โนเบลสาขาการแพทย์”
เบอร์นันเกได้รับรางวัลจากการวิจัยของเขาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ผลงานของเขาแสดงให้เห็นว่า การล่มสลายของธนาคารเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินรุนแรงได้ ไม่ใช่ผลลัพธ์ของวิกฤตการเงิน
จอห์น แฮสส์เลอร์ หนึ่งในคณะกรรมการโนเบล กล่าวว่า “ผู้คนต่างคิดว่าการที่ธนาคารล้มเหลวเป็นผลจากวิกฤตมากกว่าจะเป็นสาเหตุของวิกฤต แต่ตอนนี้มุมมองของเบอร์นันเกได้กลายเป็นภูมิปัญญาไปแล้ว”
การศึกษาของเบอร์นันเกมองว่า การแห่ถอนเงินจากธนาคารจนกระทั่งทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นสาเหตุสำคัญที่ยิ่งทำให้วิกฤตการเงินรุนแรงขึ้นได้ รวมถึงเป็นกลไกที่เปลี่ยนภาวะถดถอย (Recession) ที่ธรรมดาให้กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ได้
เบอร์นันเกเคยดำรงตำแหน่งประธานเฟดในช่วงปี 2006-2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008
ส่วนการวิจัยของไดมอนด์และดิบวิกแสดงให้เห็นบทบาทที่สำคัญทางสังคมที่ธนาคารมี ในการลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ออมที่ต้องการเข้าถึงเงินของพวกเขาในระยะสั้นและเศรษฐกิจที่ต้องการการออมเพื่อการลงทุนระยะยาว และวิธีที่รัฐบาลสามารถช่วยป้องกันการดำเนินงานของธนาคารโดยการให้ประกันเงินฝากและทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ทางเลือกสุดท้าย
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP