จับตา ใครจะเป็นนายกฯจีนคนใหม่ แทน "หลี่ เค่อเฉียง"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจัดขึ้นทุก 5 ปี โดยปกติจะกินเวลา 1 สัปดาห์ นี่เป็นการประชุมที่สำคัญเนื่องจากเป็นเวทีในการเลือกผู้นำพรรค แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการรับรองทิศทางนโยบายของจีนตลอด 5 ปีต่อจากนี้

เมื่อจีนคือประเทศที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จึงเรียกได้ว่าเป็นการประชุมขององค์กรที่ทรงอำนาจที่สุดของประเทศ

โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีโครงสร้างภายในที่เฉพาะตัวแตกต่างจากระบบการเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากภายในพรรคจะมีการแบ่งอำนาจเป็นหลายลำดับคล้ายพีระมิด

โดยจะไล่เรียงตั้งแต่ระดับล่างสุดไปจนถึงระดับบนสุด ดังนี้

อดีตรองนายกฯ จีน ปรากฏตัวครั้งแรก หลังปมฉาว "เผิง ฉ่วย"

ไต้หวันกร้าว "ป้องอธิปไตย" ตอบโต้สุนทรพจน์ "สี จิ้นผิง"

 

ระดับล่างสุดหรือฐานพีระมิด คือ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีจำนวนประมาณ 96.7 ล้านรายทั่วประเทศ หรือราวร้อยละ 7 ของประชากร ซึ่งต้องผ่านวิธีการคัดเลือกและตรวจสอบคุณสมบัติก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง

หากสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่น อาจสามารถขยับขึ้นไปยังตำแหน่งที่สูงกว่าในพรรคอย่าง สมาชิกสมัชชาพรรคระดับชาติ (National Congress) หรือ NC โดย NC ชุดปัจจุบัน มีสมาชิก 2,300 คน

การประชุมที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ จะเป็นการประชุมของสมาชิกสมัชชาพรรคระดับชาติ เพื่อคัดเลือกคนจาก NC  380 คน ไปดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าที่เรียกว่า คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 หรือ CC

โดยคณะกรรมการกลาง หรือ CC เป็นหน่วยงานที่สำคัญกับการบริหารประเทศ ทำหน้าที่แนะนำหน่วยงานต่าง ๆ ภายในพรรค มีวาระ 5 ปี

คณะกรรมการกลางจะเป็นผู้เลือกสมาชิกในระดับที่ 4 นั่นคือคณะกรรมการเมืองหรือ คณะโปลิตบูโร

ปัจจุบันโปลิตบูโรมีสมาชิกทั้งสิ้น 25 คน มีความสำคัญในฐานะผู้กำหนดแนวนโยบายสูงสุดในการชี้นำสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ สภาผู้แทนประชาชน เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ

อีกหน้าที่ที่สำคัญของโปลิตบูโรคือ การเลือกกลุ่มบุคคลให้ไปดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าที่เรียกว่า คณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) หรือ PSC

ปัจจุบันคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง มีสมาชิก 7 คน ถือเป็นผู้บริหารสูงสุด และเป็นกลไกการตัดสินใจในระดับสูงสุดของประเทศ

ในวาระปัจจุบันประกอบไปด้วย หลี่ เค่อเฉียง, ลี่ จ้านซู, หวัง หยาง, หวัง หู้หนิง , จ้าว เล่อจี้ ,หาน เจิ้ง และสี จิ้น ผิง

ในบรรดาคณะกรรมการถาวรฯ จะมี 1 รายที่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุด และมีอีก 1 ราย เป็นนายกรัฐมนตรี

ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ยังครองตำแหน่งประธานกรรมาธิการทหารซึ่งควบคุมกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army: PLA) และมักได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี หรือ ประมุขแห่งรัฐด้วย

โดยคนที่จะดำรงตำแหน่งนี้ได้ต้องเป็นคณะกรรมการถาวรที่ได้รับคะแนนโหวตเป็นอันดับ 1 ซึ่งในขณะนี้ สี จิ้น ผิง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่และหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เขาอาจได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเป็นสมัยที่ 3

แม้คาดกันว่าไม่น่ามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในการประชุมครั้งนี้ แต่ตำแหน่งสำคัญที่น่าจะต้องเปลี่ยนตัวแน่นอนหลังจบการประชุมใหญ่ คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดเบอร์ 2 ของการเมืองจีน

นายกรัฐมนตรีถูกจำกัดให้ดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย โดย ‘หลี่ เค่อเฉียง’ นายกฯ คนปัจจุบันอยู่มาครบ 2 วาระแล้ว รวมถึงยังได้ประกาศว่าเขาจะก้าวลงจากตำแหน่งที่กำลังจะหมดวาระในเดือนมีนาคมปีหน้า

แล้วใครคือคนที่คาดหมายว่าจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รอยเตอร์ระบุว่า มีสองคนในคณะกรรมการกรมการเมืองที่กำลังเป็นที่จับตามอง

คนแรก คือ หวัง หยาง ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติของจีน ส่วนคนที่สองคือ หู ชุนหัว รองนายกฯ คนปัจจุบัน

สำหรับหวัง หยาง นั้นเป็นสมาชิก PSC  ชุดปัจจุบัน และเคยเป็นรองนายกฯ ในปี 2013-2018

หวัง หยาง มีแนวทางเสรีนิยม สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของมณฑลกวางตุ้ง เขาผลักดันการปรับปรุงอุตสาหกรรมที่ล้าสมัยและเน้นนโยบายที่ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน

รอยเตอร์รายงานว่า แม้หวัง จะเป็นสายเสรีนิยม แต่ได้รับการสนับสนุนจากปธน. สีเป็นอย่างดี จากการทำงานอย่างเงียบๆ และจงรักภักดีต่อสี จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจ

ช่วงหลังๆ หวังหยางลดความคิดเสรีนิยมลง เห็นได้จากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นละเอียดอ่อนเช่น ไต้หวัน ซินเจียง และทิเบต ที่ออกไปในทางสนับสนุนปธน.สี อย่างชัดเจน

ตัวเต็งอีกคนคือ หู ชุนหัว ปัจจุบันเป็นรองนายกฯ และอยู่ในสมาชิกโปลิตบูโรชุดปัจจุบัน

เขามีพื้นเพมาจากครอบครัวที่ยากจนมาก หู ชุนหัวเคยทำงานทิเบตมาเป็นเวลานาน ก่อนขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองมองโกเลีย และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพจากการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรและความยากจน

เขาเข้าร่วมคอมมิวนิสต์จีนจากสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของมณฑลกว้างตุ้ง 5 ปี

ปัจจุบันเขาดูแลนโยบายเกี่ยวกับการลดความยากจน และนโยบายเกี่ยวกับการเกษตรซึ่งตรงกับพื้นเพของเขา

นอกจากหวัง หยาง และหู ชุนหัว แล้วยังมีอีก 2 คนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากสถาบันบรูกกิง (Brookings Institution) ในสหรัฐฯ ออกมาคาดการณ์ว่า เป็นผู้ที่จะมาชิงตำแหน่งนายกฯ  นั่นคือ หาน เจิ้ง และ หลิว เหอ หาน เจิ้ง กำลังดำรงตำแหน่งรองนายกฯ คน และอยู่ในสมาชิกโปลิตบูโรชุดปัจจุบัน

เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นอดีตเลขาธิการพรรคในเซียงไฮ้ และเริ่มดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อปี 2018

ส่วนหลิว เหอ ก็กำลังทำหน้าที่รองนายกฯ และอยู่ในโปลิตบูโรชัดปัจจุบันด้วยเช่นกัน เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทคณะบริหารรัฐกิจ จาก Harvard Kennedy School ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงเข้าใจแนวคิดของเศรษฐกิจตะวันตกเป็นอย่างดี และเขายังเรียกตัวเองว่าเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของปธน. สี

หลิว เหอ เคยเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะแสดงให้เห็นถึงความนิยมในระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในระดับผู้นำทางเศรษฐกิจนี้เป็นที่จับตามอง เพื่อวิเคราะห์ทิศทางของเศรษฐกิจการการเมืองของจีนต่อจากนี้ ท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ