ส่วนแนวรบด้านใต้ หลังสะพานเคียร์ชซึ่งรัสเซียใช้เป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงกำลังพลเข้าไปที่แคว้นไครเมียถูกทำลาย ยูเครนก็รุกคืบเข้าเคอร์ซอนจนเกือบประชิดเมืองเอกของแคว้นได้แล้ว
เมื่อเริ่มเสียเปรียบทั้ง 2 แนวรบ รัสเซียงัดยุทธวิธีใหม่มาใช้ นั่นก็คือการใช้โดรนจากอิหร่านโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม ในการรบภาคพื้นดิน ยูเครนยังรุกคืบได้ต่อเนื่อง และล่าสุดผู้บัญชาการการรบของรัสเซียออกมายอมรับว่า สถานการณ์เต็มไปด้วยความยากลำบาก
เปิดศักยภาพการผลิตยุทโธปกรณ์ของอิหร่าน
เครื่องบินรบ Su-34 ของรัสเซียตกใส่เมืองขณะซ้อมบิน เสียชีวิต 13 ราย
รัสเซียยังคงใช้โดรนจากอิหร่านโจมตียูเครนอย่างต่อเนื่อง รอบล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ผ่านมา การโจมตีพุ่งเป้าโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งกรุงเคียฟ เมืองคาร์คีฟ มิโคลาอีฟ ดนีโปรและจีโตเมียร์ ส่งผลให้ไฟฟ้าดับและน้ำประปาหยุดไหลในหลายพื้นที่ ประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
เมืองดนีโปร ที่รัสเซียใช้โดรนอิหร่านถล่มโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่นี่มีประชากรเกือบล้านคน และตอนนี้ประชากรจำนวนมากเริ่มเป็นกังวลกับหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง หลังรัสเซียใช้โดรนอิหร่านถล่มโรงงานผลิตไฟฟ้าจนเสียหาย
ประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำยูเครนระบุว่า การโจมตีของรัสเซียทำให้สถานีไฟฟ้าร้อยละ 30 ของยูเครนถูกทำลายและเมืองต่างๆกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศไม่มีไฟฟ้าใช้ พร้อมขอร้องให้ชาวยูเครนทุกคนประหยัดพลังงานเพื่อให้ผ่านหน้าหนาวนี้ไปได้
ยุทธวิธีใหม่ของรัสเซียที่นำมาใช้ในวันที่ตัวเองเสียเปรียบในการรบภาคพื้นดินทั้งแนวรบด้านตะวันออกและด้านใต้
ยุทธวิธีดังกล่าวคือ การนำอาวุธที่ซื้อจากอิหร่านมาใช้ทำสงคราม ซึ่งถือเป็นยุทธวิธีที่อันตรายและหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าสงครามจะขยายขอบเขตเมื่อมีอิหร่านมาเกี่ยวข้อง
สำนักข่าวรอยเตอร์สอ้างอิงคำพูดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านว่า อิหร่านกำลังจัดหาโดรนและขีปนาวุธจำนวนมากให้กับรัสเซีย
โดยข้อตกลงซื้อขายอาวุธเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ดร.โมฮัมหมัด มอคห์เบอร์ รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ของอิหร่าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านเดินทางไปยังกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย
อาวุธที่ตกลงส่งมอบกันคือ โดรนชาเฮด 136 และขีปนาวุธอีกสองรุ่น คือฟาเตห์-110 (Fateh-110) และ ซ็อลฟาการ์ (Zolfaghar)และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัสเซียก็ใช้โดรนชาเฮด 136 จากอิหร่านมากกว่า 80 ตัว โจมตียูเครนและมีผลทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานจำนวนมากเสียหาย
นักวิเคราะห์ทางการทหารหลายคนชี้ว่า ยุทธวิธีนี้ของรัสเซีย ที่ใช้การโจมตีด้วยโดรนกามิกาเซ่จากอิหร่าน อาจมีผลในการเปลี่ยนเกมสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 เดือน เพราะอะไร? มี เหตุผล 2 ข้อที่สามารถอธิบายเรื่องนี้
เหตุผลประการแรกคือ โดรนชาเฮด 136 ถือเป็นโดรนที่มีราคาไม่สูงมาก ราคาต่อลำประมาณ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 763,800 บาท ซึ่งถูกกว่าขีปนาวุธคาลิเบอร์ อาวุธหลักที่รัสเซียใช้โจมตียูเครนที่มีราคาลูกละ 1 ล้านดอลลาร์หรือ 38 ล้านบาท ราคาที่ถูกกว่าถึง 50 เท่าหมายความว่ารัสเซียสามารถใช้โดรนชาเฮดแบบไม่ต้องเสียดายเงิน
เหตุผลประการที่ 2 คือ นอกจากถูกแล้วยังมีความแม่นยำในระดับที่น่าพอใจด้วย
ชาเฮดสามารถติดตั้งเทคโนโลยีนำทาง สามารถลอยตัวอยู่บนท้องฟ้าได้นานหลายชั่วโมงก่อนจะพุ่งโจมตีเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของโดรนตัวนี้คือ ระเบิดที่นำขึ้นไปจะไม่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยน้ำหนักของระเบิดที่โดรนชาเฮดบรรทุกได้อยู่ที่ประมาณ 40 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับขีปนาวุธคาลิเบอร์ของรัสเซีย ที่ติดระเบิดได้หนักประมาณ 500 กิโลกรัมในคราวเดียว
แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะรัสเซียใช้โดรนหลายสิบลำโจมตีในเวลาเดียวกัน ซึ่งการทำแบบนี้สามารถสร้างความเสียหายได้มากเช่นเดียวกันและฝูงโดรนเหล่านี้กำลังถูกใช้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนอย่างหนัก
รัสเซียทำแบบนี้เพื่อบั่นทอนขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นของชาวยูเครนให้มีชีวิตที่ยากลำบากเพื่อที่จะได้ยอมแพ้ คาดการณ์กันว่า รัสเซียจะใช้โดรนราคาถูกจากอิหร่านนี้บั่นทอน กัดกร่อนการต้านทานของฝ่ายยูเครนไปเรื่อยๆ
นอกจากโดรนแล้วสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า อาวุธที่อิหร่านตกลงขายให้รัสเซียอีกคือ ขีปนาวุธรุ่น Fateh-110 และ Zolfaghar ซึ่งเป็นขีปนาวุธแบบทิ้งตัวความแม่นยำสูง พิสัยทำการของขีปนาวุธคือประมาณ 300-700 กิโลเมตร
ที่สำคัญคือตัวขีปนาวุธสามารถบรรจุหัวระเบิดแรงสูง หัวรบเคมี และระเบิดลูกปรายซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามได้ความเคลื่อนไหวของอิหร่านกำลังทำให้ชาติตะวันตกไม่พอใจอย่างหนัก มีการระบุว่าอิหร่านกำลังละเมิดมติของยูเอ็น
ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศจะหามาตรการไม่ให้อิหร่านส่งอาวุธให้รัสเซียได้อีก แต่คำถามคือ จะสามารถทำได้จริงหรือไม่?
เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา วีดานต์ ปาเทล รองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า สหรัฐฯ จะสกัดอิหร่านในทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้รัฐบาลเตหะรานส่งอาวุธให้กับรัสเซีย
คำถามต่อจากนี้ก็คือว่า แล้วสหรัฐฯจะใช้กลไกอะไรในการหยุดยั้งอิหร่าน หนึ่งในคำตอบคือ การใช้กลไกของยูเอ็นหรือองค์การสหประชาชาติ
วานนี้รองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯบอกว่า การที่อิหร่านส่งโดรนให้กับรัสเซียเท่ากับเป็นการละเมิดมติที่ 2231 ของคณะมนครีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มติ 2231 ของ UNSC คืออะไร?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2015 ชาติสมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมถึงสมาชิกแบบไม่ถาวรอีก 10 ชาติ ลงมติ 2231 แบบเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 15-0 เสียงให้ตรวจสอบโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน
หากกระบวนการพิสูจน์ได้ว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นไปเพื่อสันติจริง นานาชาติต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งหมดต่ออิหร่าน
ในทางกลับกัน หากพบหลักฐานว่า อิหร่านมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึง “การเคลื่อนย้าย” อาวุธยุทโธปกรณ์ร้ายแรงหรือมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการสนับสนุนให้ทำให้เกิดการทำลายล้างชีวิตพลเรือน อิหร่านจะถูกคว่ำบาตรหนักกว่าเดิม
ซึ่งสหรัฐฯ อาจใช้จุดนี้มาโน้มน้าว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า การที่อิหร่านขายอาวุธให้รัสเซียเพื่อไปทำลายล้างชีวิตพลเรือนคือการละเมิดมติ 2231 และจำเป็นต้องลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านให้หนักกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การลงโทษอิหร่านก็ไม่ง่ายนัก เพราะรัสเซียเป็นสมาชิกถาวร UNSC และสามารถใช้สิทธิ์วีโต้เพื่อปกป้องอิหร่านได้
นั่นอาจทำให้การสกัดไม่ให้อิหร่านขายอาวุธรวมถึงโดรนกามิกาเซ่ให้รัสเซีย ตามที่สหรัฐฯ ประกาศไว้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้ทางอิหร่านพยายามออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ
เมื่อวานนี้นัสเซอร์ คานาอานี โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านระบุว่า อิหร่านไม่เคยส่งออกหรือขายอาวุธเพื่อการทำสงครามในยูเครน ตามข่าวที่ออกมา และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการรายงานข่าวที่บิดเบือนของสื่อตะวันตก
โดรนและขีปนาวุธอิหร่านคือสิ่งที่ต้องจับตามอง เพราะนี่อาจเปลี่ยนทิศทางของสงครามในยูเครนได้ แต่รัสเซียเองก็ต้องยกระดับการรบในภาคพื้นดินของตัวเองด้วย หลังจากที่ผ่านมา ยูเครนยังคงเป็นฝ่ายรุกคืบทางภาคพื้นดินได้ต่อเนื่อง ถึงแม้จะช้าลงกว่าหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่น่าจับตาที่สุดคือ แนวรบทางด้านใต้ของยูเครนบริเวณนี้ จุดสู้รบที่สำคัญคือที่แคว้นเคอร์ซอน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 แคว้นที่รัสเซียประกาศผนวกไปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผ่านกลไกการทำประชามติแบบฝ่ายเดียว ที่นานาชาติไม่ได้ให้การยอมรับ
วิธีการในการยึดพื้นที่คืนของยูเครนคือ การตัดกำลังฝ่ายรัสเซียด้วยการทำลายสะพานเคียร์ชที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่รัสเซียกับแคว้นไครเมียซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพหลักรัสเซียในการสนับสนุนการรบที่เคอร์ซอน
หลังจากนั้นก็เปิดฉากเข้าโจมตีตามเมืองและหมู่บ้านต่างๆ และขณะนี้กองทัพยูเครนกำลังจ่อรุกเมืองเอกของแคว้นนั่นก็คือเมืองเคอร์ซอนซึ่งขณะถูกควบคุมและบริหารโดยฝ่ายที่หนุนรัสเซีย
วลาดิมีร์ ซัลโด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแคว้นเคอร์ซอนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียออกมายอมรับว่า ตอนนี้เคอร์ซอนกำลังจะถูกล้อมและมีความจำเป็นต้องอพยพพลเรือนออกจากเมืองเพิ่มขึ้น
ยังไม่ชัดเจนว่า การอพยพเป็นไปโดยความสมัครใจหรือเป็นการบังคับ เพราะหากเป็นการบังคับจะเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมสงคราม
อีกคนที่ออกมาพูดกันคือ เซอร์เก ซูโรวิคิน ผู้บัญชาการการรบของรัสเซียในยูเครนโดยระบุว่าสถานการณ์ทางใต้ตึงเครียดมาก โดยทหารยูเครนกำลังพุ่งเป้าทำลายยุทโธปกรณ์ของรัสเซียอย่างหนัก
นายพลซูโรวิคินเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีปูตินให้เป็นผู้บัญชาการการรบของรัสเซียในยูเครนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
เขาได้รับฉายาว่า นายพลวันสิ้นโลกเนื่องจากความโหดเหี้ยม โดยในสงครามที่ซีเรีย เขาคือผู้สั่งการให้มีการใช้ยุทธวิธีผลาญภพ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบีบบังคับให้พลเรือนทรมานและยอมจำนน
และเชื่อกันว่านายพลรายนี้ คือคนที่แนะนำให้เปลี่ยนยุทธวิธีการรบในยูเครนด้วยการใช้โดรนจากอิหร่านโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน