โศกนาฏกรรมอิแทวอน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีข้อสังเกตในเรื่องมาตรการความปลอดภัย ซึ่งปกติเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการเข้มงวด แต่กลับพบว่าโศกนาฏกรรมแต่ละครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เราจะไปพูดกับอาจารย์ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาจารย์ระบุว่า อิแทวอน คือย่านที่ถือว่าเป็น พหุวัฒนธรรม มีชาวต่างชาติ มีวัยรุ่นไปรวมตัวกันจำนวนมาก
ส่องปรากฏการณ์ฝูงชนเบียดเสียดเหยียบกันตายครั้งใหญ่ทั่วโลก
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เปิดสายด่วนช่วยเหลือคนไทย
โดยเฉพาะปีนี้การจัดงานฮาโลวีน มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมากเป็นแสนคน หลังจากว่างเว้นไปช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกือบ 3 ปี ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมต่างๆ และเป็นปีแรกที่ยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางที่จะไปร่วมเทศกาลฮาโลวีนของทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ ชาวเกาหลีใต้เอง
ซึ่งทางกรุงโซลวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ 230 กว่านาย ในการรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อย ซึ่งเป็นจำนวนเท่าๆกับช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่จำนวนคนมาร่วมงานในปีนี้ถือว่าน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ราว 2 แสนคน
เพราะฉะนั้น มองว่า มาตรการดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปเข้มงวดเรื่องของ ยาเสพติด ทะเลาะวิวาท ลักเล็กขโมยน้อย อาชญากรรม หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ มากกว่า การจัดการพื้นที่ความหนาแน่นของฝูงชน
และด้วยลักษณะพื้นที่จุดเกิดเหตุเป็นบริเวณ 3 แยก ซอยแคบ ลาดชัน เต็มไปด้วย ผับ บาร์ จำนวนมาก ซึ่งแต่ละร้านจะจำกัดจำนวนลูกค้า หากร้านเต็มและลูกค้าเก่าไม่ออก จะไม่เปิดให้คนที่อยู่ภายนอกเข้า จึงทำให้มีคนที่ยืนรออยู่บริเวณด้านนอกจำนวนมาก ซึ่ง 60% เป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้น
สภาพ ณ ตอนนั้นจึงเป็นเหมือนคอขวดที่คนเก่าก็ออกไม่ได้คนใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีทางออก รวมถึงพื้นที่ทางเดินเป็นทางลาด เมื่อคนล้มลงจึงเป็นโดมิโนที่ล้มทับกันมาเรื่อยๆ พอข้างหน้าไม่มีทางที่จะออกไปได้และมีคนล้มทำให้คนข้างหลังคิดว่าสามารถเดินไปได้จึงเกิดการดันและเหยียบกันมาเรื่อยๆ
ขณะที่เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุมาจาก การไม่จัดระเบียบของตัวนักท่องเที่ยวเอง และ การควบคุมของทางการเองในการแจ้งเตือนจำนวนนักท่องเที่ยว เช่น ในรถไฟฟ้าจะมีการแจ้งเตือนจำนวนคนที่หนาแน่นเกินกว่าจะให้บริการได้ ณ ขณะนั้น ซึ่งในอนาคตรัฐบาลอาจมีประกาศแจ้งเตือนช่วงเทศกาลที่เข้มงวดมากขึ้น เพราะปัจจุบันการแจ้งเตือนเป็นไปในลักษณะขอความร่วมมือมากกว่า
เทียบเคียงบทเรียนความสูญเสียโศกนาฏกรรมครั้งนี้กับครั้งก่อนอย่างไร เช่น โศกนาฏกรรมเรือเซวอล ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน
ปกติเกาหลีใต้จะไม่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมบ่อย ทำให้คนมั่นใจในมาตรการดูแลของรัฐจนคลายความกังวลลง แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดเหตุ จะเกิดเป็นโศกนาฏกรรมในลักษณะนี้ไปเลย เมื่อเทียบกับประเทศไทย จะเกิดเหตุเล็กน้อยบ่อย เพราะบางครั้งก็หละหลวม แต่ของเกาหลีใต้ หรือ ประเทศพัฒนาแล้ว มักจะเกิดเหตุในสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทำให้มีความสูญเสียชีวิตจำนวนมาก แต่กรณีบ้านจะมีการระมัดระวังกันเองโดยธรรมชาติ
แนะนำนักท่องเที่ยวไทยอย่างไร?
อาจารย์ไพบูลย์ แนะนำว่า การเดินทางไปเกาหลีใต้โดยเฉพาะการท่องราตรีเป็นอีกกิจกรรมที่หลายคนนิยม จึงแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเส้นทางต่างๆ และไปในสถานที่ที่เคยไป หลีกเลี่ยงในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ปฏิบัติตามาตรการของท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด เพราะไม่มีความชำนาญทาง หรือ พื้นที่ เท่ากับคนในพื้นที่ ร่วมถึงการระมัดระวังตัวเองจากเหตุทะเลาะวิวาท หรือ อาชญากรรมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ถอดบทเรียนกับ "ประเทศไทย" อย่างไร
อาจารย์ไพบูลย์ มองว่า ควรมีความร่วมมือกันใน 3 ส่วน คือ
- ผู้ประกอบการ ต้องเปิดข้อมูลการรองรับลูกค้าในร้านให้มากขึ้น ระบุให้ชัดว่าสามารถรองรับได้เต็มที่เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดการยืนรอหน้าร้านจำนวนมาก
- ส่วนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางการ ต้องเตรียมพร้อมรับมือประจำจุดมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการจัดระเบียบฝูงชนที่มาร่วมงานควบคู่กับเหตุอาชญากรรม
- ส่วนที่ 3 คือ นักท่องเที่ยว ที่จะลดความเสี่ยงนำตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่แอดอัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล