อนาคตของผืนป่า "แอมะซอน" ที่ผูกติดกับการเมืองบราซิล

โดย PPTV Online

เผยแพร่

อีกเรื่องที่ประธานาธิบดีบอลซานาโรถูกวิจารณ์คือ การออกนโยบายส่งเสริมให้เอกชนรุกไล่ทำลายพื้นที่ป่าแอมะซอนภายใต้การนำของบอลซานาโร ป่าแอมะซอนถูกทำลายอย่างหนักจากนโยบายถางป่าเพื่อพื้นที่ทางการเกษตร อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ หลายฝ่ายบอกว่าอาจเปลี่ยนอนาคตของป่าที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติ

แอมะซอน ป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมเขตแดน 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 60 เป็นของประเทศบราซิล

ที่นี่คือแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพันธุ์และสัตว์หลากสายพันธุ์ และเป็นบ้านชนพื้นเมืองมากมายหลายกลุ่ม

สมญานามของแอมะซอนคือปอดของโลก จากต้นไม้กว่า 4 พันล้านต้นที่ช่วยกักเก็บและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

ปิดตำนาน "มนุษย์หลุม"! สมาชิกคนสุดท้ายของชนเผ่าในบราซิลเสียชีวิตแล้ว

บราซิลพบศพนักข่าวอังกฤษ-ไกด์ท้องถิ่นหายตัวในป่าแอมะซอน

วันนี้ปอดของโลกกำลังอ่อนแอจากการถูกคุกคามและทำลายอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเกิดจากนโนบายของประธานาธิบดีจาอีร์ บอลซานาโร “บอลซานาโรออกไป แอมะซอนต้องอยู่” เสียงตะโกนจากผู้ชุมนุมดังต่อเนื่อง

ท้องถนนของนครเซา เปาโล ในบราซิลเนืองแน่นไปด้วยผู้ประท้วงจำนวนมาก ผู้คนรวมตัวกันเพื่อแสดงให้เห็นว่ากำลังไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นับตั้งแต่ต้นปี ความผิดปกติเกิดขึ้นที่ป่าแอมะซอน เมื่อมีรายงานว่า เกิดไฟป่ามากกว่า 75,000 จุด เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นกลุ่มควันจากลอยอยู่เหนือผืนป่า เจ้าหน้าที่พยายามดับด้วยการปล่อยน้ำลงสู่จุดที่เผาไหม้ ความร้อนแรงพอทุเลาลงไปได้บ้าง แต่ไฟป่าที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีเพียงจุดเดียว มันกระจัดกระจายกันไปท่ามกลางความกว้างใหญ่ของป่า

จากบราซิล ไฟโหมกระหน่ำลุกลามไปถึงผืนป่าแอมะซอนที่อยู่ในเวเนซุเอลา และโบลิเวีย ประชาชนที่โกรธแค้นนี้ชี้นิ้วไปที่จาอีร์ บอลซานาโร ประธานาธิบดีบราซิลในฐานะที่ทำให้เกิดภาพนี้ขึ้น

นับตั้งแต่บอลซานาโรขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปลายปี 2018 อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อเขาชูนโยบายเปลี่ยนผืนป่าแอมะซอนให้เป็นพื้นที่ทางเศราฐกิจ

ไฟป่าที่เกิดขึ้นในป่าแอมะซอนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามวงจรธรรมชาติ แต่เป็นการจงใจเผาเพื่อให้ที่ดินโล่งเตียนเพื่อนายทุนทำปศุสัตว์

มากกว่านั้นไฟป่ายังเป็นสิ่งที่ใช้ขับไล่ชนพื้นเมืองออกเพื่อเปิดทางให้ธุรกิจเหมืองแร่ด้วย

ป่าแอมะซอนคือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตมีความพยายามบุกรุกผืนป่าจากบรรดานายทุนเพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจ จนในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 รัฐบาลบราซิลออกกฏหมายลงโทษผู้บุกรุกอย่างรุนแรง การบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังทำให้อัตราการตัดไม่ทำลายป่าลดลงอย่างมาก

ข้ามมาปี 2013 สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อบราซิลเจอปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

ผู้คนจำนวนมากเผชิญกับความยากลำบาก กฎหมายนี้จึงถูกผ่อนปรน มีการอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์ในผืนป่าได้ในเงื่อนไขว่าต้องทำในพื้นที่ขนาดเล็ก ผืนป่ามากมายกลายมาเป็นเรือกสวนไร่นาและทุ่งเลี้ยงสัตว์

จากชาวบ้านรายเล็กรายน้อย นายทุนขนาดใหญ่เริ่มเห็นช่องและเข้าทำประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีบอลซานาโรมีนโยบายชัดเจนในการเปลี่ยนผืนป่าให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

ผลจากนโยบายนี้ทำให้ปัจจุบันบราซิลคือผู้ส่งออกเนื้อวัวอันดับหนึ่งของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองอันดับสอง

แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต อนาคตของบราซิลและมนุษยชาติแขวนอยู่บนเส้นด้ายเมื่อผืนป่าสำคัญที่สุดของโลกกำลังจะหายไป

 

วิกฤตที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้แก่ประชาคมโลก ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 นานาชาติพร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการอนุมัติเงินมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่บอลซานาโรปฏิเสธ ระบุไม่ต้องการให้ประเทศอื่นมีอธิปไตยแทรกแซงบราซิล

ผู้นำบราซิลถูกวิจารณ์อย่างหนัก วิกฤตทางสิ่งแวดล้อมถูกผูกโยงกับการเมือง ท่ามกลางไฟป่าที่กำลังลุกลามบานปลาย

อย่างไรก็ดี เมื่อคืนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารุ่งอรุณแห่งความหวังในการพลิกฟื้นผืนป่าแอมะซอนกำลังจะมาถึง หลังลูลา ดา ซิลวา ผู้นำจากพรรคฝ่ายซ้ายและอดีตประธานาธิบดีของบราซิล คว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2022

หนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้ลูลากลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ได้คือ นโยบายปกป้องผืนป่าแอมะซอน ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาชูนโยบายพิทักษ์ผืนป่าขึ้นมา

ย้อนกลับในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลเมื่อปี 2003-2010

รัฐบาลในเวลานั้นสามารถลดอัตราการตัดไม้บนพื้นที่ป่าแอมะซอนในปี 2004 จาก 27,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี ให้เหลือเพียง 7,000 ตารางกิโลเมตรต่อปีในปี 2010

การอนุรักษ์ป่าแอมะซอนในสมัยลูลาเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่เป็นรางวัลของทั้งบราซิลและของโลก

การกลับมาของลูลาครั้งนี้ เขาได้ชูนโยบายพิทักษ์ผืนป่าแอมะซอน ด้วยการยุติโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบอสโซนาโร เช่น การทำฟาร์มปศุสัตว์ การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ และสัมปทานตัดไม้ บนผืนป่าแอมะซอน

ขณะเดียวกัน เขาได้สัญญาว่าจะพยายามลดอัตราการตัดไม้ในป่าแอมะซอนจนเหลือศูนย์ให้ได้  และจะทำให้บราซิลเป็นประเทศแนวหน้าที่ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

หลายฝ่ายพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าชัยชนะของลูลา ดา ซิลวาที่เกิดขึ้นในวันนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบราซิลตัดสินใจเลือกป่า ซึ่งเป็นอนาคตด้านสภาพภูมิอากาศของโลก

โลกอาจต้องติดตามผลการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับป่าแอมะซอนของลูลาต่อไปในช่วง 4 ปีหลังจากนี้

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า ตอนนี้ป่าแอมะซอนจะปลอดภัยมากกว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

นี่ถือเป็นชัยชนะก้าวแรกและการฟื้นฟูผืนป่าที่ได้ชื่อว่าเป็น “ปอดของโลก” และ “อนาคตสำหรับมนุษยชาติ” กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ