ความสวยงามที่ไม่อยากเห็น วิจัยพบโลกร้อนจะทำให้ “รุ้งกินน้ำ” เพิ่มขึ้น

โดย PPTV Online

เผยแพร่

มหาวิทยาลัยฮาวายพบ ภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเพิ่มโอกาสในการเกิด “รุ้งกินน้ำ”

ช่วงเวลาหลังฝนตกมักเป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย เพราะอาจได้เห็นสายรุ้งที่สวยงาม จนมีคำกล่าวที่ว่า “ฟ้าหลังฝนมักสวยงามเสมอ” แต่มีการประเมินว่า ในอนาคตข้างหน้า เราจะสามารถมองเห็นสายรุ้งได้มากขึ้น แต่สาเหตุที่ทำให้มันเป็นเช่นนั้น กลับไม่ใช่เรื่องดีเท่าไร

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวายพบว่า ภาวะโลกและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เราสามารถเห็นรุ้งกินน้ำได้มากขึ้น โดยภายในปี 2100 จำนวนวันที่เกิดรุ้งกินน้ำจะเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วง 20 ปีก่อน

ตัวการทำโลกร้อน! นาซาเผยภาพแหล่งปล่อยมีเทนกว่า 50 แห่ง

ชี้ช่อง "ปลูก 58 พรรณไม้" สร้างรายได้จาก คาร์บอนเครดิต

"พายุบนโลกจะน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ" หลังโลกร้อนทำมหาสมุทรอุ่นเกินไป

ทีมวิจัยระบุว่า ภูมิภาคในโซนละติจูดเหนือและพื้นที่ที่อยู่ในระดับความสูงที่สูงมาก ซึ่งจะประสบกับสถานการณ์ที่หิมะลดลงและมีฝนตกมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะเกิดรุ้งกินน้ำมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่ปริมาณน้ำฝนลดลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คาดว่าจะมีวันที่เกิดรุ้งกินน้ำน้อยลงมาก

สายรุ้งหรือรุ้งกินน้ำ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหยดน้ำหรือละอองน้ำในอากาศที่เกิดขึ้นหลังฝนตกกระทบเข้ากับแสงอาทิตย์ เกิดการกระจายของแสงออกมาเป็นสเปกตรัมทั้ง 7 สี แสงแดดและฝนจึงเป็นองค์ประกอบหลักในการเกิดสายรุ้ง

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ชั้นบรรยากาศโลกอบอุ่นขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบของการเกิดฝน ปริมาณน้ำฝน และเมฆที่ก่อตัวเหนือพื้นที่ต่าง ๆ

คิมเบอร์ลี คาร์ลสัน หัวหน้าทีมวิจัย จากภาควิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า “จากการใช้ชีวิตในฮาวาย ฉันรู้สึกดีที่ได้เห็นรุ้งกินน้ำที่สวยงามน่าทึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่ฉันเกิดสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อโอกาสในการเกิดรุ้งได้อย่างไรบ้าง”

จากข้อสงสัยดังกล่าว ทำให้ คามิโล โมรา จากภาควิชาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาย รู้สึกทึ่งกับคำถามนี้ และเสนอให้มีการศึกษาเป็นงานวิจัย

เขาเสริมว่า “เรามักจะศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของผู้คนอย่างไร เช่น การเกิดโรคลมแดดจากคลื่นความร้อนที่เพิ่มขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มีนักวิจัยเพียงไม่กี่คนที่ตรวจสอบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลต่อคุณภาพด้านสุนทรียภาพของสภาพแวดล้อมของเราอย่างไร”

เพื่อตอบคำถามนี้ ทีมวิจัยได้ดูรูปถ่ายที่อัปโหลดไปยัง Flickr ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผู้คนแบ่งปันรูปถ่าย แล้วคัดแยกจัดเรียงภาพถ่ายหลายหมื่นหลายแสนภาพที่ถ่ายทั่วโลกที่ติดเสิร์ชคำว่า “รุ้ง”

อแมนดา หว่อง หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาย บอกว่า “เราต้องจัดเรียงภาพถ่ายของงานศิลปะสีรุ้ง ธงสีรุ้ง ปลาสีรุ้ง และอาหารสีรุ้ง เพื่อค้นหาสายรุ้งจริง ๆ”

จากนั้น นักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองคาดการณ์การเกิดสายรุ้งตามตำแหน่งภาพถ่ายสายรุ้ง และนำมาประกอบกับแผนที่ปริมาณน้ำฝน การปกคลุมของเมฆ และมุมของดวงอาทิตย์ เพื่อคำนวณหาโอกาสในการเกิดรุ้งกินน้ำในโลกปัจจุบัน และพวกเขายังใช้แบบจำลองเพื่อทำนายการเกิดรุ้งในอนาคตด้วย โดยพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงต่อการเกิดฝนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยบนโลกในปัจจุบันมีวันที่เกิดสายรุ้งประมาณ 117 วันต่อปี ภายในปี 2100 ในสถานการณ์ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดรุ้งกินน้ำเพิ่มขึ้น 4.0–4.9%

ทั้งนี้ ประมาณ 21–34 % ของพื้นที่บนโลกจะเห็นรุ้งน้อยลง และพื้นที่ที่เหลือ 66–79 % บนโลกจะเห็นรุ้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ละติจูดสูงและมีระดับความสูงที่สูง

คาร์ลสันบอกว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของมนุษย์บนโลก การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น เสียงและแสง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และสมควรได้รับความสนใจจากนักวิจัยมากขึ้น”

 

เรียบเรียงจาก Science Daily

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มที่นี่

ภาพจาก AFP

 

คอนเทนต์แนะนำ
วิจารณ์ยับ หมอไลฟ์สดขณะผ่าตัดคนไข้
ททท.ยกระดับการจัดงานเทศกาล เน้นจำกัดคนเข้า หลังเกิดโศกนาฏกรรมอิแทวอน
ฝ่ายหนุนประธานาธิบดีบราซิล ชุมนุมค้านผลเลือกตั้ง
ผู้นำเกาหลีใต้สั่งทำแผนคุมฝูงชน-นักวิเคราะห์หวั่นเหตุอิแทวอนฉุด ศก.

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ