รู้หรือไม่ว่า เรื่องของภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และต่อวิถีการใช้ชีวิตของมนุษยชาติที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนแล้ว อากาศที่ร้อนขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อ “การเทคออฟ” หรือ “การบินขึ้นของเครื่องบิน” ด้วย นับเป็นความท้าทายอย่างมากของอุตสาหกรรมการบินพลเรือนทั่วโลก
ความสวยงามที่ไม่อยากเห็น วิจัยพบโลกร้อนจะทำให้ “รุ้งกินน้ำ” เพิ่มขึ้น
พบดาวเคราะห์น้อย “ผู้พิฆาตดาวเคราะห์” เสี่ยงเป็นภัยต่อโลก
“กาแล็กซีชนกัน” ภาพสุดยอดหาชมยากจาก “เจมส์ เว็บบ์”
พอล วิลเลียมส์ ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเรดดิงของสหราชอาณาจักร อธิบายว่า “เครื่องบินทุกลำขณะกำลังบินขึ้นจะต้องเผชิญกับความยากจากน้ำหนักที่มากและแรงโน้มถ่วงที่ดึงพวกมันลงพื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะเอาชนะแรงโน้มถ่วง “แรงยก” เป็นสิ่งจำเป็นกับเครื่องบิน”
โดยหลักการของแบร์นูลลี (Bernoulli) ปีกของเครื่องบินได้รับการออกแบบให้ด้านบนมีความโค้งมากกว่าด้านล่าง เมื่อเครื่องแล่นไปข้างหน้า จะเกิดกระแสอากาศไหลผ่านปีด้านบนและล่าง แต่ด้วยความโค้งของด้านบน จะทำให้กระแสอากาศด้านบนของปีกมีความเร็วสูงกว่า และทำให้ความดันด้านใต้ปีกมากกว่าจนเกิดเป็นแรงยก ทำให้เครื่องบินลอยตัวขึ้นได้
แต่นอกจากหลักการพื้นฐานนี้แล้ว วิลเลียมส์ยังบอกว่า “แรงยกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ “อุณหภูมิของอากาศ” และเมื่ออากาศอุ่นขึ้น อากาศจะขยายตัวขึ้น ดังนั้นจำนวนโมเลกุลที่มีอยู่เพื่อดันเครื่องบินขึ้นจึงลดลง”
เขาบอกว่า เครื่องบินจะมีแรงยกน้อยลง 1% ทุก ๆ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส “นั่นเป็นสาเหตุที่เมื่ออากาศร้อนจัดจะทำให้เครื่องบินขึ้นบินได้ยากขึ้น และในสภาวะร้อนสุดขั้วบางทีการขึ้นบินอาจเป็นไปไม่ได้เลย”
ปัญหานี้ส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษกับสนามบินซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สูง เพราะอากาศน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้วและมักมีรันเวย์สั้น ซึ่งทำให้เครื่องบินมีพื้นที่น้อยลงในการเร่งความเร็ว
วิลเลียมส์กล่าวว่า ที่อุณหภูมิอากาศ 20 องศาเซลเซียส เครื่องบินจะต้องการรันเวย์ความยาวอย่างน้อย 1.98 กิโลเมตร แต่ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส จะต้องใช้รันเวย์ความยาวอย่างน้อย 2.5 กิโลเมตร
วิลเลียมส์และทีมวิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลสนามบิน 10 แห่งในประเทศกรีซ ซึ่งมักมีอุณหภูมิสูงในหน้าร้อน และมีรันเวย์ที่สั้น และพบว่า อุณหภูมิที่สนามบินเหล่านี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7 องศาเซลเซียสต่อทุก ๆ ทศวรรษ
“นอกจากนี้ เรายังพบหลักฐานว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทำให้เกิดภาวะ ‘ลมนิ่ง (Global Stilling)’ ด้วย ซึ่งทำให้ลมมีความเร็วช้าลง” วิลเลียมส์กล่าว
จากนั้นทีมวิจัยได้ใส่ข้อมูลอุณหภูมิและลมในเครื่องคำนวณประสิทธิภาพการบินขึ้นของเครื่องบินประเภทต่าง ๆ “สิ่งที่เราพบคือ น้ำหนักสูงสุดที่เครื่องบินรับไหวลดลงเรื่อย ๆ เฉลี่ย 127 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของผู้โดยสารหนึ่งคนพร้อมกระเป๋าเดินทาง ซึ่งหมายความว่า เครื่องบินสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้น้อยลงอย่างน้อย 1 คนต่อปี”
หลายคนอาจจำข่าวหนึ่งในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2018 ได้ว่า มีเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวในลอนดอนถูกบังคับให้ทิ้งผู้โดยสารไว้เพื่อที่จะสามารถเทคออฟหรือนำเครื่องขึ้นได้อย่างปลอดภัย บางเที่ยวบินต้องทิ้งผู้โดยสารมากถึง 20 คนก็มี
หรืออีกเหตุการณ์เมื่อปี 2017 ที่เที่ยวบินหลายสิบเที่ยวบินถูกยกเลิกในช่วง 2-3 วันที่ท่าอากาศยานนานาชาติสกายฮาร์เบอร์ของเมืองฟีนิกซ์ในแอริโซนา เนื่องจากอุณหภูมิอากาศสูงถึง 48.8 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิที่เครื่องบินโดยสารหลายรุ่นสามารถปฏิบัติการได้
ทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า คลื่นความร้อนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ส่งผลต่อการขึ้นบินของเครื่องบินโดยสารอย่างมาก
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 เครื่องบินลำตัวแคบอย่างเช่น โบอิ้ง 737 จะมีการจำกัดน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 200% ในช่วงฤดูร้อนที่สนามบินหลัก 4 แห่งของสหรัฐฯ คือ ลา การ์เดีย, เรแกน, เดนเวอร์ และสกายฮาร์เบอร์
วิธีการแก้ไขในขณะนี้มีเพียงการปรับเวลาเที่ยวบิน การลดจำนวนผู้โดยสาร แต่วิธีการที่ดีที่สุดยังคงเป็นการพยายามลดอุณหภูมิของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่สายการบินใดสายการบินหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องการความช่วยจากคนทั้งโลก
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP