เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ทวิตเตอร์ได้ทำการอัปเดตแอปพลิเคชันที่อยู่ในแอปสโตร์ ของแอปเปิล เพื่อเริ่มเก็บค่าบริการเดือนละ 7.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 297 บาท จากผู้ใช้งานระบบ iOS ในบางประเทศ ที่สมัคร Twitter Blue หรือบริการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ฟีเจอร์พิเศษ ซึ่งรวมถึง "บลูมาร์ก" หรือเครื่องหมายที่แสดงว่าบัญชีดังกล่าวได้รับการตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตน (Verified) แล้ว ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในบัญชีที่เป็นของบุคคลสาธารณะ คนดัง สำนักข่าว หรือหน่วยงานต่าง ๆ
“ทวิตเตอร์” ยืนยันปลดพนักงานออก 50 % รวมแผนกคัดกรองเนื้อหา
“อีลอน มัสก์” ยุบบอร์ดบริหารทวิตเตอร์ทิ้งทั้งคณะ
แต่ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่า บริษัทจะตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้งานทั่วไปที่เสียค่าบริการรายเดือนอย่างไร
นอกจากบลูมาร์กแล้ว ยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่ผู้สมัครใช้งานใหม่จะได้รับ อาทิ โฆษณาจะปรากฏในฟีดลดลง และสามารถโพสต์คลิปวิดีโอที่ยาวกว่าผู้ใช้งานปกติได้
ความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามนโนบายของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า หากผู้ใช้งานทั่วไปที่จ่ายเงินรายเดือน สามารถติดบลูมาร์กหลังชื่อได้ ต่อไปอาจมีคนพยายามอ้างตัวเป็นคนมีชื่อเสียง หน่วยงาน หรือสำนักข่าวกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้งานในทวิตเตอร์ลดลง
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เรียกเสียงฮือฮา คือ การปลดพนักงานราว 3,700 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 50% ของพนักงานในบริษัททั้งหมด ซึ่งมัสก์ยืนยันว่า จำเป็นต้องลดต้นทุนของบริษัท และไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว โดยพนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชย 3 เดือน ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
เรื่องนี้ แจ็ก ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ ได้ออกมาขอโทษพนักงานของบริษัทที่ถูกเลย์ออฟ เขาตระหนักดีว่าหลายคนคงโกรธ เขามีส่วนต้องรับผิดชอบที่ทำให้ทุกคนต้องมาเจอสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ เพราะเขาเองทำให้บริษัทเติบโตเร็วเกินไป
สำหรับนายดอร์ซีย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ในปี 2006 ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งซีอีโอเมื่อปีที่แล้ว และออกจากบอร์ดบริหารเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเขาสนับสนุนการเทกโอเวอร์กิจการโดยมัสก์ พร้อมระบุว่า นี่คือหนทางที่ถูกต้องของทวิตเตอร์
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งหนังสือถึงมัสก์ ผู้เป็นเจ้าของคนใหม่ของทวิตเตอร์ โดยเรียกร้องให้เขายึดหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น เป็นนโยบายหลักในการบริหารจัดการบริษัท แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่มองข้ามภัยอันตรายจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ด้วย