เกาหลีเหนือ-รัสเซีย มิตรภาพงอกงามในวันที่ถูกโลกหันหลังให้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 8 เดือน ทำให้เราได้เห็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นขึ้นระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ ซึ่งต่างเป็นประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่อาจพัฒนาขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงคาบสมุทรเกาหลีด้วยเช่นกัน

ภาพถ่ายดาวเทียมพาณิชย์ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โครงการ "38 North” ในสหรัฐฯ ซึ่งวิเคราะห์เหตุการณ์ในเกาหลีเหนือระบุว่า ภาพถ่ายดาวเทียมนี้แสดงให้เห็นขบวนรถไฟที่วิ่งข้ามแดนจากเกาหลีเหนือไปยังรัสเซีย ข้ามผ่านสะพานมิตรภาพเกาหลี-รัสเซีย จุดเชื่อมต่อทางบกเพียงแห่งเดียวระหว่างสองประเทศ

38 North บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีรถไฟใช้เส้นทางนี้ เนื่องจากสะพานมิตรภาพเกาหลี-รัสเซีย ถูกปิดไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 

เกาหลีเหนือ ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป ICBM แต่ไม่สำเร็จ

เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ยิงขีปนาวุธเข้าเขตอีกฝ่ายเป็นครั้งแรก

แต่ก็ยากจะที่ระบุได้ว่า รถไฟขบวนนี้ข้ามไปรัสเซียด้วยเป้าหมายอะไร หรือบรรทุกอะไรเอาไว้ข้างในตู้ขบวน

แต่ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน หน่วยงานสัตวบาลของรัสเซียระบุว่า รัสเซียและเกาหลีเหนือได้กลับมาเริ่มการขนส่งทางรถไฟระหว่างกันเป็นครั้งแรกแล้วนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ โดยมีการส่งรถไฟที่บรรทุกม้าพันธุ์ออร์ลอฟ

ทรอตเตอร์ ม้าสายพันธุ์ดังของรัสเซียจำนวน 30 ตัว เข้าไปยังเกาหลีเหนือ แม้ไม่มีใครรู้ชัดว่าทำไมเกาหลีเหนือต้องการม้า 30 ตัวจากรัสเซีย แต่เป็นที่รู้กันว่า ‘คิม จอง อึน’ ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือโปรดปรานการขี่ม้า และเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือก็เคยใช้เงินหลายพันดอลลาร์ ไปกับการนำเข้าม้าจากรัสเซียมาแล้ว

ภาพถ่ายดาวเทียมรถไฟข้ามแดนเกาหลีเหนือ-รัสเซีย ปรากฏขึ้นเพียง 2 วัน หลังทางการสหรัฐฯ ระบุว่ามีข้อมูลบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือกำลังลักลอบจัดส่งกระสุนดินปืนจำนวนมากให้กับรัสเซียเพื่อใช้รบในยูเครน โดยพยายามอำพรางปลายทางที่แท้จริงของกระสุนเหล่านั้นด้วยการส่งผ่านช่องทางประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

สหรัฐฯ ไม่ได้นำหลักฐานมายืนยันข้อกล่าวหานี้ แต่บอกว่าจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดยหากการจัดส่งอาวุธเกิดขึ้นจริง นี่จะเป็นการละเมิดมติคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ที่ห้ามเกาหลีเหนือค้าอาวุธ เพื่อลงโทษที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เมื่อปี 2017 ซึ่งรัสเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เห็นชอบการคว่ำบาตรดังกล่าวด้วย 

อย่างไรก็ดี เกาหลีเหนือยืนยันว่านี่เป็นเพียงข่าวลือ เกาหลีเหนือไม่มีเคยมีข้อตกลงด้านอาวุธกับรัสเซีย และไม่มีแผนจะทำเช่นนั้นในอนาคต นี่เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่มุ่งทำลายภาพลักษณ์เกาหลีเหนือในเวทีโลกเพื่อเป็นข้ออ้างงัดมาตรการคว่ำบาตรออกมาใช้

เช่นเดียวกับรัสเซีย ที่ปฏิเสธแข็งขัน โดยบอกว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เป็นเรื่องไม่จริงตั้งแต่ต้นจนจบ

แม้ทั้งเกาหลีเหนือและรัสเซียยืนกรานว่าไม่ได้ส่งกระสุนปืนใหญ่ช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน แต่รายงานนี้ก็อาจเป็นสัญญาณล่าสุด สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียที่แนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ ความจริงแล้วความใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่

เกาหลีเหนือซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก่อตั้งประเทศขึ้นในช่วงต้นสงครามเย็นโดยได้การสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต

และเมื่อเกิดสงครามเกาหลีช่วงปี 1950-1953 เกาหลีเหนือก็ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีน

เกาหลีเหนือพึ่งพาโซเวียตอย่างหนักเป็นเวลาหลายทศวรรษ และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายช่วงทศวรรษ 1990 ก็มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งร้ายแรงในเกาหลีเหนือด้วย

แม้ในช่วงแรกที่คิม จอง อึน ขึ้นสู่อำนาจ ความสัมพันธ์กับรัสเซียจะค่อนข้างเย็นชา เนื่องจากรัสเซียร่วมกับสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

แต่หลังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือเมื่อปี 2017 คิม จอง อึน ก็พยายามเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์ โดยคิม จอง อึน พบปูตินครั้งแรกเมื่อปี 2019 ในการประชุมที่เมืองวลาดิวอสต็อกของรัสเซีย 

ครั้งนั้น คิม จอง อึน บอกกับปูตินว่าทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์และประเพณีร่วมกันมาอย่างยาวนาน

และเมื่อรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือก็แสดงท่าทีสนับสนุนรัสเซียอย่างแข็งขัน โดยบอกว่าต้นเหตุของสงครามมาจากนโยบายครองอำนาจครอบงำเบ็ดเสร็จของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

เกาหลีเหนือยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่รับรองความพยายามของรัสเซียในการผนวก 4 ภูมิภาคของยูเครนที่บางส่วนอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้นำเกาหลีเหนือและรัสเซียส่งสาส์นประกาศว่า จะขยายความสัมพันธ์ระหว่างที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ระหว่างสองประเทศ 

ส่วนเมื่อเดือนตุลาคม คิม จอง อึน ยังได้อวยพรวันเกิดปูตินด้วยการแสดงความยินดีที่ผู้นำรัสเซียต่อการทำลายความท้าทายและภัยคุกคามจากสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์มองว่า การที่รัสเซียพยายามซื้อกระสุนปืนใหญ่จากเกาหลีเหนือ สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านการจัดหาอาวุธที่ประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ กำลังเผชิญอยู่ในการทำสงครามกับยูเครน

และในขณะที่กระสุนปืนใหญ่จากเกาหลีเหนืออาจช่วยรัสเซียบรรเทาปัญหาขาดแคลนในสนามรบ คำถามคือแล้วเกาหลีเหนือได้อะไรจากความสัมพันธ์แนบแน่นกับมหาอำนาจอย่างรัสเซียที่กำลังถูกประชาคมโลกหันหลังให้ ในขณะที่ตัวเองก็ถูกคว่ำบาตรหนักไม่ต่างกันจากการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์

สิ่งที่อาจเห็นชัดเป็นรูปธรรมที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อรัสเซีย รวมถึงจีนในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ใช้สิทธิวีโต ไม่รับรองร่างมติคว่ำบาตรชุดใหม่ที่มุ่งลงโทษการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่รัสเซียและจีนวีโตการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

การมีรัสเซียขัดขวางการมติคว่ำบาตรของ UNSC ย่อมหมายถึงการเปิดทางให้เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธและสร้างความตึงเครียดให้กับเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่อไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

หน่วยงานคลังสมองในเอเชียจำนวนไม่น้อยมองว่า นอกจากเงินจากรัสเซียแล้ว สิ่งที่เกาหลีเหนืออาจกำลังมองหาจากความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างกัน ก็คือเทคโนโลยีและวัสดุสำหรับเดินหน้าโครงการขีปนาวุธของตัวเองที่เป็นประเด็นคว่ำบาตรของสหประชาชาติ  แม้สงครามยูเครนเกิดขึ้นในแผ่นดินยุโรป แต่สงครามนี้ก็มีต้นทุนแฝง

นักวิเคราะห์มองว่า คำขู่ของรัสเซียว่าพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครนอาจทำให้บางประเทศที่เล็กกว่า มองว่าจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเพื่อความอยู่รอด และหากมีอาวุธนั้นอยู่ในมือแล้ว ก็จะไม่ยอมสละอาวุธนิวเคลียร์เหมือนกับที่ยูเครนยอมทำเมื่อปี 1994 เด็ดขาด

‘มายูมิ ฟูกุชิมะ’ อดีตนักการทูตญี่ปุ่นและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงชี้ว่า ในขณะที่เกาหลีเหนือมองว่าอาวุธนิวเคลียร์คือเครื่องมือป้องกันการโจมตีจากสหรัฐฯ 

สงครามแบบที่เกิดขึ้นในยูเครนก็อาจเป็นเหตุผลหนักแน่นขึ้นให้เกาหลีเหนือไม่ยอมละอาวุธนิวเคลียร์ในครองครองไม่ว่าจะถูกกดดันหนักแค่ไหนก็ตาม

ซึ่งท่าทีของเกาหลีเหนือในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ก็สอดคล้องกับความเห็นดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการระดมทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่อง การส่งเครื่องบินรบคุกคามเกาหลีใต้ ไปจนถึงการผ่านกฎหมายใหม่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีก่อนได้เพื่อปกป้องตัวเอง

โดยคิม จอง อึน ได้ประกาศว่าเกาหลีเหนือจะไม่ยอมทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ และอาจไม่มีการเจรจากับสหรัฐฯ อีก

ท่ามกลางสงครามยูเครนที่ดำเนินมานานกว่า 8 เดือน ความสัมพันธ์แนบแน่่นระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียที่ต่างถูกประชาคมโลกหันหลังให้ จึงอาจบั่นทอนสันติภาพของโลกกว้างไกลกว่าที่ใจกลางยุโรป

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ