สรุปสาระการประชุม COP27 กระแสเงียบแต่ความสำคัญห้ามมองข้าม!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้กระแสจะเงียบกว่าปีที่แล้ว แต่การประชุม COP27 ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ที่จะปูทางไปสู่ข้อตกลงใหญ่ในการประชุมครั้งต่อไปอยู่

เมื่อเทียบกับการประชุมในกลาสโกว์เมื่อปีที่แล้ว การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) ณ เมืองชาม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) ดูจะไม่มีไฮไลต์หรือสร้างอิมแพกต์ในด้านการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สักเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม COP27 ก็พอจะมีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ที่จะปูทางไปสู่ข้อตกลงใหญ่ในการประชุมครั้งต่อไปอยู่เช่นกัน

ยูเครนจ่อฟ้องรัสเซีย ทำลายสิ่งแวดล้อม-ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

มหาเศรษฐี 1 คน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าคนทั่วไป 1 ล้านเท่า

เปิดฉากการประชุม COP 27 ถกชาติร่ำรวยจ่ายชดเชยค่าเสียหายจากภาวะโลกร้อน

ร่างเอกสารไม่เป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ได้เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเป็นข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP27 ครั้งนี้

เอกสารรายงานย้ำเป้าหมายของข้อตกลงกลาสโกว์ที่มีชึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเร่งมาตรการในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้เรียกร้องให้มีการหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดตามที่อินเดียและสหภาพยุโรปร้องขอ

รายงานยังไม่ได้ระบุรายละเอียดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหลักจากบรรดาประเทศเล็กที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่นี่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะในวาระการประชุมสุดยอดที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงการเยียวยาประเทศเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะ เช่น บาร์เบโดส ฯลฯ และมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษน้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวย แต่กลับต้องรับผลกรรมที่ได้ได้ก่อ

โดยบาร์เบโดสเรียกร้องให้มีการเก็บภาษี 10% ทั่วโลก สำหรับกำไรจากอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย

คิริบาตี, รวันดา, มาลาวี, กาบูเวร์ดี, ซูรินามี, บาร์เบโดส และปาเลา เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนสำหรับชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งสหประชาชาติก็เห็นชอบ โดยเรียกร้องให้มีการสร้าง “ข้อตกลงความเป็นปึกแผ่นด้านสภาพอากาศ” ฉบับใหม่ ซึ่งประเทศร่ำรวยจะช่วยสนับสนุนประเทศยากจนด้านการเงิน

รายงานของยูเอ็นยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความพยายามในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นตามคำขอที่ผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศพยายามที่จะรวมไว้ในข้อตกลงขั้นสุดท้าย เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สื่อจับตาคือ ตัวแทนจากบราซิล ที่ในปีนี้มีประธานาธิบดีคนใหม่ ลูอิส อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ซึ่งหนุนนโยบายปกป้องผืนป่าแอมะซอนและสิ่งแวดล้อม ต่างจากอดีตประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนารู ที่ไม่ค่อยแยแสและดูจะหนุนการตัดไม้ทำลายป่าเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งลูลาก็ประกาศกร้าวให้คำมั่นว่า จะฟื้นคืนสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและหยุดการตัดไม้ทำลายป่า โดยจะลดการทำลายผืนป่าแอมะซอนให้เป็นศูนย์ให้ได้ “วันนี้ ผมมาที่นี่เพื่อบอกว่า บราซิลพร้อมที่จะร่วมสร้างโลกที่ดีขึ้นอีกครั้ง”

เขาเสริมว่า “เราไม่สามารถรักษาความปลอดภัยของโลกได้หากไม่ปกป้องคุ้มครองแอมะซอน เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าและนำความเสื่อมโทรมมาสู่ชีวนิเวศของเรา ด้วยเหตุผลนี้ ผมอยากจะประกาศว่า การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุดในรัฐบาลชุดต่อไปของผม”

ลูลาบอกอีกว่า “เราจะจัดลำดับความสำคัญในการต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยน้ำมือรัฐบาลชุดก่อน”

 

คอนเทนต์แนะนำ
เมื่อ อายุ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับ "ยกเว้นภาษี 190,000 บาท"
นายกฯ หารือผู้บริหารฮ่องกง เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด19 คลี่คลาย

 

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการประชุมสุดยอด COP27 เช่น

  • ข้อเสนอใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการดำเนินงานด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
  • สหรัฐฯ สนับสนุนระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่รุนแรงในแอฟริกา
  • สหประชาชาติเปิดตัวแผนระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลกมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ สำหรับป้องกันเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว
  • ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับอียิปต์เพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และโรงไฟฟ้าก๊าซเพื่อการรื้อถอน
  • สนับสนุนข้อเสนอสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • อิสราเอล เลบานอน และอิรัก ประกาศแผนการทำงานร่วมกันเพื่อลดการปล่อยมลพิษ
  • ฝรั่งเศสประกาศสนับสนุนวาระบริดจ์ทาวน์ในการปฏิรูปธนาคารโลก โดยมุ่งเน้นที่การจัดหาเงินทุนด้านสภาพอากาศ
  • สหรัฐอเมริกาได้ประกาศโครงการริเริ่มการค้าคาร์บอนเครดิตระดับโลกใหม่
  • ฝรั่งเศสเพิ่มงบประมาณการกำจัดคาร์บอนในประเทศเป็น 2 เท่าเพื่อช่วยกำจัดคาร์บอนในอุตสาหกรรมหนักของฝรั่งเศส

 

เรียบเรียงจาก Reuters / The Guardian

ภาพจาก AFP

เอเชียนกมส์2022-B เอเชียนกมส์2022-B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ