รัสเซีย ออกโรงปรามนาโตหากส่ง"แพทริออต"ให้ยูเครน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สงครามในยูเครนดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 10 แล้ว และขณะนี้การรบกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ที่มีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งยูเครนเนื่องจากถูกรัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างหนัก จนทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโตที่ประเทศโรมาเนียเมื่อวานนี้ ยูเครนออกขอร้องให้ชาติพันธมิตรนาโตส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่น "แพทริออต" ให้ เพื่อใช้ปกป้องชีวิตพลเรือน นี่ทำให้ทางการรัสเซียไม่พอใจอย่างมากจนต้องออกมาปรามนาโต

โดยคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คือ  ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ปัจจุบันดำรงตำแน่งประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย หนึ่งในคนใกล้ชิดของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน

กองทัพ ยูเครนยึดเมืองเออร์พินคืนจากรัสเซียได้

"ปูติน" เปรียบตัวเองเหมือนพระเจ้าซาร์ ต้องสู้เพื่อชิงดินแดนกลับมา

เมดเวเดฟระบุว่า การส่งมอบระบบขีปนาวุธแพทริออตให้กับยูเครน จะเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ยูเครนในการโจมตีกองทัพรัสเซีย

คำเตือนของ เมดเวเดฟ มีขึ้นหลังจากที่ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนออกมาเรียกร้องในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาตินาโต ที่จัดขึ้นในกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนียเมื่อวานนี้ว่า อยากให้นาโตส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้กับยูเครนอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะระบบที่เรียกว่า "แพทริออต" เพื่อใช้รับมือกับการโจมตีอย่างหนักของรัสเซีย ที่ขณะนี้มุ่งไปที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างไฟฟ้า ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องอยู่ท่ามกลางอากาศที่เย็นจัดในของฤดูหนาว

หลังการออกมาเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก็ได้ระบุว่า นาโตกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างเร่งด่วนใน 2 ทางด้วยกัน

ทางแรกคือ การเร่งช่วยซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยูเครนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ทางที่สองคือ ชาติพันธมิตรนาโตจะมอบอาวุธช่วยเหลือให้ยูเครนมากขึ้น

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เลขาธิการนาโตไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ว่าอาวุธที่ส่งไปให้ยูเครนรอบใหม่ จะมีสิ่งที่ยูเครนต้องการมากที่สุด อย่างระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต หรือไม่

และแม้ว่าจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ทางรัสเซียก็ออกมาปรามแล้ว โดยระบุว่า ถ้าสหรัฐฯส่งแพทริออตให้ยูเครนจริงก็จะเท่ากับเป็นการสร้างเหตุผลและความชอบธรรมให้รัสเซียโจมตียูเครนหนักขึ้นกว่านี้

จะเห็นได้ว่าทางฝั่งรัสเซียกังวลกับการที่นาโตจะส่งระบบแพทริออตไปให้ยูเครนเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบป้องกันขีปนาวุธรุ่นนี้มีประสิทธิภาพในการปกป้องยูเครนได้ดีพอสมควร และจะทำให้รัสเซียเสียเปรียบในการโจมตีทางอากาศ

ขีปนาวุธแพทริออต PATRIOT (Phased Array Tracking Radar to Intercept of Target) หรือ MIM-104 แพทริออต เป็นขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศของกองทัพสหรัฐฯ

ระบบป้องกันขีปนาวุธนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโต้และทำลายเครื่องบินรบ และหัวรบแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธพิสัยใกล้ โดยถือเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงตัวหนึ่งในเวลานี้  สิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบแพทริออตมีประสิทธิภาพสูงคือ ระบบเรดาร์

เรดาห์ของแพตทริออตเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า A Passive electronically scanned array AESA ซึ่งเป็นระบบเรดาร์ประสิทธิภาพสูงสุดที่มีใช้ในทางการทหาร จึงสามารถตรวจจับขีปนาวุธที่จะเข้ามาโจมตีได้ดี

แพทริออตพัฒนาขึ้นโดยบริษัทเรย์ธีออนและล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธรายสำคัญของสหรัฐฯ

กองทัพสหรัฐฯ เคยนำแพทริออตไปใช้ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ระบบนี้ถูกติดตั้งไว้ในหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ รวมถึงซาอุดิอาระเบีย โดยสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งระบบนี้ให้กับซาอุดิอาระเบียหลังจากการเยือนซาอุฯของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการป้องกันตัวเองจากการโจมตีของกบฏฮูตีในเยเมน

นอกจากนี้ ยังถูกนำไปติดตั้งในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

โดยตัวที่ญี่ปุ่นได้คือ PAC 3 (Patriot Advanced Capabilty 3) ซึ่งเป็นแพทริออตรุ่นล่าสุดที่มีการอัปเกรดในทุกระบบ ตั้งแต่ซอฟแวร์ของระบบสื่อสารและเรดาร์ตรวจจับ ซึ่งสามารถทำให้จัดการกับหัวรบทุกรูปแบบที่ยิงเข้ามาได้ รวมถึงหัวรบที่ผ่านเข้ามาจากชั้นบรรยากาศ

สำหรับญี่ปุ่น การได้รับระบบป้องกันนี้ ถือว่าเป็นการยกเครื่องระบบป้องกันขีปนาวุธที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์การเมืองรอบญี่ปุ่นที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากเกาหลีเหนือ

อีกจุดหนึ่งที่มีระบบแพทริออต คือ ไต้หวัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าได้รับรองแผนการจำหน่ายระบบขีปนาวุธแพทริออตพร้อมอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้องให้กับไต้หวัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่สูงถึง 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เคลื่อนย้ายระบบแพทริออต 2 ตัวจากฐานทัพในเยอรมนีไปติดตั้งในประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นชาติสมาชิกนาโตเพื่อเป็นการเตรียมป้องกันรับมือหากสงครามขยายวง

โปแลนด์ถือเป็นด่านหน้าของสงครามในครั้งนี้เนื่องจากมีพรมแดนทางตะวันออกติดกับยูเครน ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแคว้นคาลินินกราดของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ไม่เคยส่งระบบแพทริออตให้กับยูเครน แม้ว่ายูเครนจะร้องขอ โดยทางสหรัฐฯ ระบุว่า ยูเครนไม่ใช่สมาชิกนาโต และการส่งระบบนี้ไปเท่ากับเป็นการทำให้สหรัฐฯ และนาโตต้องเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขีปนาวุธของยูเครนลูกหนึ่งข้ามไปตกในเขตแดนโปแลนด์ หลังฝั่งยูเครนพยายามยิงสกัดขีปนาวุธของรัสเซีย

ทำให้ทางอันเดรจ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ ออกมาแถลงว่า ยูเครนสมควรได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ดีกว่านี้ และเสนอให้มีการเคลื่อนเอาระบบแพทริออตที่ประจำการอยู่ในเยอรมนีไปที่ประเทศยูเครนแทน

อย่างไรก็ตามข้อเสนอของโปแลนด์ในวันนั้นทำให้หลายชาติสมาชิกนาโตกังวลใจ

คริสติน แลมเบรชต์ รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนีออกมาระบุว่า การส่งระบบป้องกันภัยของนาโตออกไปนอกดินแดนเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ และจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสมาชิกของนาโตทั้งหมดก่อน

สาเหตุที่ทำให้ทางเยอรมนีต้องออกมาแสดงท่าทีเช่นนี้เป็นเพราะ หากมีการส่งระบบแพทริออตเข้าไปในยูเครน ทางชาติสมาชิกนาโตต้องส่งทหารของตนเองเข้าไปติดตั้งระบบดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการส่งทหารเข้าไปในพื้นที่สงครามโดยตรง

นี่คือสิ่งที่ชาติสมาชิกนาโตหลีกเลี่ยงมาตลอดในระยะเวลากว่า 10 เดือนของสงคราม

ในวันที่ยังไม่มีความชัดเจนจากนาโตว่าจะมีการส่งระบบป้องกันขีปนาวุธ "แพทริออต" ไปให้ยูเครนหรือไม่

รัสเซียก็ยังยิงขีปนาวุธกระหน่ำโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยูเครนยังต่อเนื่อง ส่วนในการรบภาคพื้นดิน ทั้งสองฝ่ายก็กำลังเผชิญกับความยากลำบากจากสภาพอากาศ แต่ทางฝั่งรัสเซียยังคงเดินหน้ารุกคืบยึดพื้นที่ต่อ

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนได้รายงานสถานการณ์สู้รบประจำวันว่า การสู้รบหนักๆ ขณะนี้อยู่ที่ภูมิภาคดอนบาส เนื่องจากรัสเซียกำลังพยายามฝ่าแนวรับของกองกำลังยูเครนเข้ามาใหม่ หลังจากถูกตีถอยร่นไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ทำให้สถานการณ์การสู้รบบริเวณนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วงและยากลำบาก

เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนเป็นสงครามภาคพื้นดินหรือ Ground warfare  ที่สู้กันบนภาคพื้นดินด้วยกำลังพล สนามเพลาะ รถถัง และปืนใหญ่ ซึ่งไม่แตกต่างจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ 100 ปีที่แล้ว

นอกจากการปะทะกันและอากาศที่เย็นลง อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การสู้รบในยูเครนเป็นไปอย่างยากลำบากคือ สภาพพื้นที่ที่เป็นโคลนตม เนื่องจากอากาศยังไม่เย็นมากพอที่จะทำให้ดินแข็ง ผนวกกับฝนปลายฤดูใบไม้ร่วงที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง นี่ทำให้ในสนามเพลาะที่ทหารขุดไว้ เต็มไปด้วยน้ำขังและโคลน

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ