แต่ในอัฟกานิสถานเองก็ปรากฏว่ามีการประท้วงต่อต้านคำสั่งห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่ออกมาชุมนุมประท้วงไม่เอาคำสั่งนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เป็นสัญญาณให้เห็นความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการปกครองของกลุ่มสุดโต่งนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่าผู้หญิงบางคนที่ออกมาประท้วงถูกทุบตีและจับกุม
ภาพการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานเมื่อวานนี้ ( 22 ธ.ค.)
โลกประณาม ตาลีบันห้ามผู้หญิงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
รัฐมนตรีศึกษาฯ ตาลีบันเผย ห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยถูกต้องแล้ว
ผู้ร่วมประท้วงกว่า 20 คนเป็นผู้หญิงทั้งหมด พวกเธอสวมฮิญาบ เดินขบวนไปตามท้องถนน พร้อมตะโกนข้อความต่อต้านคำสั่งของตาลีบันที่ห้ามผู้หญิงอัฟกานิสถานเรียนมหาวิทยาลัย ตลอดจนเรียกร้องเสรีภาพและความเท่าเทียม พวกเธอบอกว่าหากมีคนบางกลุ่มในสังคมไม่ได้รับเสรีภาพ นั่นหมายความว่าทั้งสังคมก็ไม่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมด้วย เดิมทีผู้หญิงกลุ่มนี้มีแผนชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยคาบูล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สุดของอัฟกานิสถาน แต่ก็ต้องเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมหลังทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปประจำการ
บีบีซีรายงานอ้างอิงผู้หญิงหลายคนที่เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวที่บอกว่า พวกเธอถูกเจ้าหน้าที่หญิงของตาลีบันทุบตีและมีผู้หญิง 5 คนที่เข้าร่วมการประท้วงถูกจับกุม
แต่นอกจากในกรุงคาบูลแล้วก็ยังมีการประท้วงประปรายเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นด้วย โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอการประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยนันการ์ฮาร์ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน ในคลิปมีนักศึกษาผู้ชายร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งรายงานระบุว่านักศึกษาชายเหล่านี้เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เดินออกจากห้องสอบเนื่องจากเพื่อนนักศึกษาหญิงร่วมชั้นถูกห้ามเข้าสอบ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการร่วมอารยะขัดขืนต้านคำสั่งตาลีบันของอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ชายราว 50 คน ทั้งจากมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่ลาออกจากตำแหน่งเป็นการประท้วง
ภายใต้การปกครองของกลุ่มสุดโต่งอย่างตาลีบัน การประท้วงขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะมักถูกหน่วยงานความมั่นคงสกัดการชุมนุม ส่วนการประท้วงที่นำโดยผู้หญิงก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากผู้หญิงที่เข้าร่วมชุมนุมมักเผชิญความเสี่ยงทั้งการถูกจับกุม ความรุนแรง และการตีตราทางสังคมจากการเข้าร่วมประท้วง อย่างไรก็ตาม คำสั่งของตาลีบันที่ห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำให้เกิดการประท้วงต้านคำสั่งดังกล่าวขึ้นประปราย แต่ก็เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาของตาลีบันได้ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยและมีผลบังคับใช้ทันที มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนถูกสั่งห้ามให้นักศึกษาหญิงเข้าจนกว่าจะมีคำสั่งเพิ่มเติม คำสั่งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือนหลังนักเรียนและผู้หญิงทั่วประเทศเพิ่งผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยการห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยจึงไม่ต่างจากการดับฝันของผู้หญิงเหล่านี้ รวมถึงนักศึกษาหญิงอีกจำนวนมากที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไปแล้ว และกำลังรอวันสำเร็จการศึกษาเพื่อเข้าสู่เส้นทางอาชีพ หลังฝ่าฟันการเรียนการสอบมาอย่างยากลำบาก
ตาลีบันกลับมายึดอำนาจปกครองอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังการล่มลงของรัฐบาลที่ชาติตะวันตกหนุนหลัง และการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร แม้หลังการยึดอำนาจตาลีบันได้ให้สัญญาว่าจะปกครองด้วยกฎที่เข้มงวดน้อยลงกว่าช่วงทศวรรษ 1990 ที่พวกเขามีอำนาจปกครองครั้งแรก แต่ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกลุ่มสุดโต่งนี้ ก็ชัดเจนว่าสิทธิของผู้หญิงอัฟกานิสถานก็ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ
โดยหลังตาลีบันยึดอำนาจปกครองได้ไม่นาน มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอัฟกานิสถานก็ถูกบีบให้ต้องใช้กฎแยกห้องเรียนรวมถึงประตูทางเข้าระหว่างนักศึกษาชายและหญิง นักศึกษาหญิงต้องเรียนกับอาจารย์ผู้หญิงหรืออาจารย์ผู้ชายที่อายุมากเท่านั้น รวมถึงยังมีการจำกัดวิชาเรียนสำหรับผู้หญิง
โดยนักศึกษาหญิงยังถูกห้ามเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สัตวแพทย์และเกษตรกรรม ส่วนการเรียนวารสารศาสตร์ก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มติดอาวุธสุดโต่งนี้ยังได้สั่งห้ามผู้หญิงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย สั่งให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบในที่ทำงาน ต้องปิดบังใบหน้าเมื่ออยู่ในที่ สาธารณะ ตลอดจนห้ามผู้หญิงเดินทางไกลหากไม่มีญาติสนิทที่เป็นผู้ชายเดินทางไปด้วย
ในขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติอย่างสูง และตาลีบันเองก็ต้องการการรับรองจากประชาคมโลกในฐานะรัฐบาลของอัฟกานิสถาน คำสั่งห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นนโยบายล่าสุดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ก็อาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของตาลีบันและนานาชาติเลวร้ายลงโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 และสหรัฐฯ ต่างออกมาประณามการกระทำของตาลีบันและจี้ให้ยกเลิกคำสั่งนี้
แอนนาลีนา แบร์บอค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีในฐานะตัวแทนของรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 ซึ่งประกอบไปด้วย เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ประณามว่าการตัดสินใจของตาลีบันที่ห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยถือเป็นอีกก้าวที่ดึงสังคมอัฟกานิสถานกลับไปสู่ยุคหิน และการข่มเหงด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพก็เทียบเท่ากับการก่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติ
ส่วน ‘แอนโทนี บลิงเคน’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ตาลีบันเพิกถอนคำสั่งห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัย พร้อมเตือนว่ารัฐบาลของตาลีบันจะไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ได้หากยังเดินหน้าปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิง โดยสหรัฐฯ จะทำให้ตาลีบันต้องรับผิดชอบหากไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
นอกจากชาติตะวันตกแล้ว ก็ยังมีเสียงวิจารณ์จากประเทศมุสลิมด้วยกันที่เรียกร้องให้ตาลีบันยกเลิกคำสั่งดังกล่าว โดย ‘เมฟเลิต ชาวูโซลู’ รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีระบุว่า คำสั่งนี้ไม่ใช่ทั้งเรื่องศาสนาอิสลามและความเป็นมนุษย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนานาชาติ ‘เนดา โมฮัมหมัด นาดีม’ รัฐมนตรีอุดมศึกษาของรัฐบาลตาลีบันก็ออกมาปกป้องการตัดสินใจออกคำสั่งห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัย โดยอ้างว่าการออกคำสั่งนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น รัฐบาลบอกให้สวมฮิญาบให้เหมาะสม แต่ผู้หญิงจำนวนมากก็ไม่ยอมทำ กลับแต่งตัวไปเรียนเหมือนไปงานแต่ง
ขณะเดียวกัน ก็ยังบอกว่ามีผู้หญิงที่เรียกเกษตรกรรมและวิศวกรรม แต่นี่ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมอัฟกานิสถาน โดยอ้างว่าผู้หญิงควรเรียนในสาขาที่ไม่ขัดกับหลักของอิสลามและเกียรติของประเทศ พร้อมเรียกร้องประชาคมโลกอย่าแทรกแซงกิจการภายในของอัฟกานิสถาน