หากมีคนถามว่า สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่เคยปกครองโลกอย่าง “ไดโนเสาร์” กินอะไรเป็นอาหาร? คนส่วนใหญ่อาจจะตอบว่า กินไดโนเสาร์ตัวอื่น กินไข่ กินนก กินปลา กินพืช และหากใครเคยลองค้นหาในกูเกิลดูก็จะพบว่า ไดโนเสาร์บางชนิด “กินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” เป็นอาหารด้วย
อย่างไรก็ดี เรื่องของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคโบราณนั้นเป็นที่พูดถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับราชาในยุคนั้นอย่างไดโนเสาร์
นี่มันอับดุลชัด ๆ ทำความรู้จัก “ChatGPT” แจ็คที่อาจมาฆ่ายักษ์ “กูเกิล”
พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ว่ายและดำน้ำได้เหมือนเป็ด!
นักวิทยาศาสตร์พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ มีแผงคอและริบบิ้น
แต่ล่าสุด มีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคโบราณ เป็นหนึ่งใน “เมนู” ของไดโนเสาร์บางชนิด ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะค้นหาในกูเกิลก็เจอ แต่ก็เป็นเรื่องที่มีหลักฐานหลงเหลือมาถึงปัจจุบันน้อยมาก การค้นพบนี้จึงสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์
ฮานส์ ลาร์สสัน ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา จากพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ ในสหรัฐฯ เล่าว่า ขณะที่เขากำลังเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฟอสซิลโบราณแห่งหนึ่งในประเทศจีน เขาสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่าง
มันเป็นฟอสซิลลำไส้ของไดโนเสาร์สายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า ไมโครแรปเตอร์ (Microraptor zhaoianus) เป็นไดโนเสาร์กลุ่ม เทโรพอด (Theropod) หรือไดโนเสาร์กลุ่มที่กระดูกมีลักษณะกลวง มี 3 นิ้วหรือกรงเล็บ กลุ่มเดียวกับ ที-เร็กซ์ สไปโนซอรัส เวโลซิแรปเตอร์ โดยไมโครแรปเตอร์เป็นเทโรพอดที่มีขนาดเล็กที่สุด ณ ข้อมูลปัจจุบัน มีขนาดตัวยาวไม่เกิน 1 เมตรเท่านั้น
ซากฟอสซิลของไมโครแรปเตอร์นี้ถูกค้นพบในมณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีอายุราว 120 ล้านปี ย้อนไปจะตรงกับช่วงยุคครีเทเชียส (Cretaceous)
ทั้งนี้ ความผิดปกติที่เขาพบไม่ใช่ว่าลำไส้ของมันมีความแปลกประหลาดอะไร แต่สิ่งที่ชวนเซอร์ไฟรส์คือ “สิ่งที่อยู่ในลำไส้” ต่างหาก
“ตอนแรกผมไม่อยากเชื่อเลย มันมี ‘เท้า’ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรูปร่างคล้ายกลุ่มสัตว์ฟันแทะ (หนู กระต่าย) ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ภายในฟอสซิลลำไส้ของไมโครแรปเตอร์” ลาร์สสันกล่าว
เขาเสริมว่า “การค้นพบเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว ซึ่งหายากมากเป็นพิเศษ”
ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์พร้อมอาหารมื้อสุดท้ายของพวกมันในสภาพสมบูรณ์เพียง 20 ชิ้นเท่านั้น ชิ้นที่ลาร์สสันพบนี้เป็นชิ้นที่ 21 และในจำนวนนี้มีเพียง 1-2 ชิ้นเท่านั้นที่พบชิ้นส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีเพียงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตอื่นเท่านั้นที่พบในฟอสซิล
“ตัวอย่างไมโครแรปเตอร์ที่เคยพบมีชิ้นส่วนของปลา นก และกิ้งก่าอยู่ในท้องแต่การค้นพบครั้งใหม่นี้เพิ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเข้าไปเป็นหนึ่งในอาหารของพวกมันด้วย ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่า ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นสัตว์นักฉกฉวยและไม่เลือกกิน” ลาร์สสันกล่าว
“การได้รู้ว่าไมโครแรปเตอร์เป็นเป็นผู้ล่าที่ไม่เฉพาะเจาะจงเหยื่อ (Generalist Predator) ทำให้เกิดมุมมองใหม่ว่าระบบนิเวศโบราณทำงานอย่างไร และให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นไปได้เกี่ยวไดโนเสาร์มีขนขนาดเล็กเหล่านี้” เขาอธิบาย
ผู้ล่าที่ไม่เฉพาะเจาะจงเหยื่อ เช่น สุนัขจิ้งจอกและอีกา เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบนิเวศ เพราะพวกมันสามารถกินสัตว์หลายชนิดได้ และเจ้าไมโครแรปเตอร์นี้นับเป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่สามารถืนยันไดว่าเป็นผู้ล่าที่ไม่เฉพาะเจาะจงเหยื่อ
ดร. เดวิด โฮน หนึ่งในทีมวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน กล่าวว่า “แม้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้จะไม่ใช่บรรพบุรุษของมนุษย์อย่างแน่นอน แต่เราสามารถมองย้อนกลับไปได้ว่า ญาติเก่าแก่ของเราบางตัวเคยเป็นอาหารของไดโนเสาร์ผู้หิวโหย”
เขาเสริมว่า “การศึกษานี้แสดงช่วงเวลาอันน่าทึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานที่หาได้ยากว่า ไดโนเสาร์เคยกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม้ว่ามันจะไม่น่ากลัวเท่ากับใน ‘Jurassic Park’ (ที่ไดโดนเสาร์กินคน) ก็ตาม”
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก McGill University