"ไบเดน" ปฏิเสธหารือซ้อมรบนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีส่อแววร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี เมื่อเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธตั้งแต่วันปีใหม่ พร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปตัวใหม่และขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากเกาหลีเหนือทำให้เราได้เห็นท่าทีแข็งกร้าวจากฝั่งเกาหลีใต้ เมื่อประธานาธิบดี ‘ยุน ซอก-ยอล’ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กำลังหารือการซ้อมรบร่วมนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักข่าวไปถาม ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ คำตอบที่ได้กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อประธานาธิบดีไบเดนบอกว่า ไม่ได้กำลังหารือประเด็นดังกล่าวกับเกาหลีใต้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (2 ม.ค.) หลังประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ เดินทางกลับมาจากการพักผ่อนช่วงปีใหม่ที่หมู่เกาะเวอร์จิน ผู้สื่อข่าวก็ยิงคำถามทันทีว่าผู้นำสหรัฐฯ กำลังหารือเรื่องการซ้อมรบร่วมด้านนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้อยู่หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผู้นำสหรัฐฯ ก็คือไม่ได้มีการหารือดังกล่าว

คิม จอง อึน ทดสอบขีปนาวุธใหม่ พร้อมพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์ใหญ่ขึ้น

“ผู้นำคิม” สั่งพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป รับภัยคุกคามสหรัฐฯ

คำถามนี้มีที่มาหลังจากเมื่อวานนี้หนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ สื่อสายอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของประธานาธิบดี ‘ยุน ซอก-ยอล’ที่เผยว่า เกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังหารือเกี่ยวกับการฝึกซ้อมร่วมด้านนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ

ยุน ซอก-ยอล บอกว่าเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือได้ดีขึ้น รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการของกองกำลังนิวเคลียร์สหรัฐฯ โดยอาวุธนิวเคลียร์เป็นของสหรัฐฯ แต่การวางแผน การแบ่งปันข้อมูล การฝึกซ้อมและฝึกหัด ควรเป็นสิ่งที่ทำร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ทั้งยังเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีท่าทีเชิงบวกต่อแนวคิดดังกล่าวด้วย

เกาหลีใต้ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ขณะที่สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังสหรัฐฯ ถอนอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีออกจากคาบสมุทรเกาหลีในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงปลดอาวุธกับสหภาพโซเวียต

แต่เกาหลีใต้ยังคงได้รับการคุ้มครองภายใต้ “ร่มนิวเคลียร์” หรือ Nuclear Umbrella ของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ให้สัญญาว่าจะใช้ทุกสรรพกำลังที่มี รวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตร

ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ยังบอกว่าแนวคิดลักษณะนี้ล้าหลังไปแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่าการป้องปรามแบบขยายที่หมายความสหรัฐฯ จะดูแลทุกอย่างและเกาหลีใต้ไม่ต้องกังวล กลายเป็นสิ่งที่ยากจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเกาหลีใต้ได้ในตอนนี้

อย่างไรก็ดี คำตอบของประธานาธิบดีไบเดนที่บอกว่า ไม่ได้มีการหารือกันเรื่องซ้อมรบร่วมนิวเคลียร์ในตอนนี้ก็สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความเห็นของประธานาธิบดียุน

ทั้งนี้ การเปิดทางให้เกาหลีใต้มีบทบาทมากขึ้นในกองกำลังนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนโยบายสหรัฐฯ ต่อเกาหลี และแน่นอนว่าจะยิ่งทำให้ความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะตอบรับแผนดังกล่าว เพราะถือว่าขัดแย้งจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อเป้าหมายไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกและการสนับสนุนให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง รวมถึงไม่จำเป็นต่อการป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านวิธีการอื่นๆ

บทสัมภาษณ์ของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็นจุดยืนสายเหยี่ยวของผู้นำเกาหลีใต้คนนี้ ที่มีต่อเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกัน ก็ยังเกิดขึ้นในขณะที่เกาหลีเหนือมีท่าทีไม่เป็นมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบขีปนาวุธมากเป็นประวัติการณ์ตลอดปีที่ผ่านมา

รวมถึงการยิงขีปนาวุธในวันขึ้นปีใหม่ ตลอดจนการส่งโดรน 5 ลำ รุกล้ำน่านฟ้าเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่เกาหลีใต้ไม่อาจยิงโดรนเหล่านั้นลงได้แม้แต่ลำเดียว ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับประชาชนในเกาหลีใต้ค่อนข้างมากต่อช่องโหว่ในระบบป้องกันภัยทางอากาศของประเทศ

บางคนมองว่าสาเหตุที่การตอบสนองล่าช้า เป็นเพราะที่ผ่านมาเกาหลีใต้พึ่งพาสหรัฐฯ ด้านการทหารมากเกินไป

และในถ้อยแถลงต่อที่ประชุมประจำปีของพรรคคนงานเกาหลีเหนือที่เพิ่งปิดฉากลงเมื่อวันสิ้นปี ‘คิม จอง อึน’ ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือประกาศเป้าหมายขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ โดยผู้นำคิมบอกว่า เกาหลีใต้ได้กลายเป็นศัตรูของเกาหลีเหนือไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย

นี่อาจเป็นสัญญาณชัดว่า ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีไม่น่าจะบรรเทาลงในปี 2023

เมื่อรวมกับการเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ท่าทีคุกคามยั่วยุเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อความกังวลของประชาชนในเกาหลีใต้ และทำให้ข้อถกเถียงว่าเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

เมื่อวานนี้มีการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นโดยองค์กรฮันกุก รีเสิร์ช ในกรุงโซลที่ชี้ว่าชาวเกาหลีใต้ร้อยละ 67 สนับสนุนให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยผู้ที่โหวตสนับสนุนมีทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม

ผลโพลนี้ก็สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับการสำรวจความคิดเห็นของโพลอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่ในขณะที่มีบทความและนักการเมืองจำนวนมากบอกว่า การมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองจำเป็นสำหรับเกาหลีใต้ในการเผชิญความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคซึ่งรายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อีกด้านหนึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า อาวุธนิวเคลียร์มีประโยชน์น้อยมากสำหรับเกาหลีใต้ และมีแต่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพยิ่งขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี

ขณะที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ซึ่งมีจุดยืนอนุรักษ์นิยมเคยบอกว่า เขาจะขอให้สหรัฐฯ ส่งอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีกลับมาประจำการบนคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง หรือไม่ก็ทำข้อตกลงแบบนาโต ที่กองกำลังเกาหลีใต้จะได้รับการฝึกอบรมเพื่อส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ หากเกิดความขัดแย้ง แต่ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ออกมาปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างรวดเร็ว

และจากท่าทีล่าสุดของประธานาธิบดีไบเดน ที่ปฏิเสธว่าไม่ได้หารือเรื่องการซ้อมรบร่วมนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้ ก็ยิ่งทำให้ถูกมองว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะเห็นด้วยกับการสนับสนุนอาวุธนิวเคลียร์ให้กับเกาหลีใต้

ท่ามกลางความกังวลต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่ทวีขึ้นในตอนนี้ คำถามสำคัญคือเกาหลีใต้มีศักยภาพในการป้องกันตนเองมากแค่ไหน

หากเราดูจากข้อมูลเปรียบเทียบขุมกำลังกองทัพระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ จะเห็นได้ว่าในแง่กำลังพลเกาหลีเหนือมีมากกว่า โดยเกาหลีเหนือมีทหารประจำการอยู่ราว 1 ล้าน 2 แสน 8 หมื่นนาย ถือเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก ขณะที่เกาหลีใต้มีทหารประจำการเกือบ 6 แสนนายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้มีกองทัพสหรัฐฯ ประจำการอยู่ราว 26,000 นาย ในฐานทัพอย่างน้อย 73 แห่งทั่วประเทศ และนักวิเคราะห์ยังมองว่าเกาหลีใต้และพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ มีความได้เปรียบมากกว่าในแง่เทคโนโลยีทางการทหารที่ก้าวหน้า การฝึกซ้อม การเตรียมการ และการบัญชาการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้พันธมิตรเกาหลีใต้และสหรัฐฯ มีความได้เปรียบอยู่สูง

มีการประเมินว่า หากเกาหลีเหนือยิงจรวดปืนใหญ่พิสัยไกลหรือขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบขีปนาวุธสกั๊ดโจมตีสินทรัพย์ของเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯที่อยู่ในเกาหลีใต้ การใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออตที่ดำเนินการโดยสหรัฐฯ หรือเกาหลีใต้สกัดก็น่าจะเพียงพอในการสกัดภัยคุกคามดังกล่าว

ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่เหนือกว่าของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ผู้นำเกาหลีเหนือตระหนักดี การเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจึงถูกมองเป็นความพยายามชดเชยจุดอ่อนของกองทัพแบบดั้งเดิม (conventional military) ของเกาหลีเหนือที่มีขีดความสามารถด้อยกว่า

ขณะที่การทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือก็ทำให้เกาหลีใต้ยิ่งต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการลาดตระเวนและสอดแนมทางอากาศ

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา กองทัพเกาหลีใต้ประกาศว่าประสบความสำเร็จในการยิงทดสอบจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ผลิตเอง

จรวดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อนำดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นไปสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก โดยกองทัพเกาหลีใต้ชี้ว่านี่เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการลาดตระเวนและเฝ้าระวังของเกาหลีใต้

ขณะที่คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือก็เพิ่งประกาศในที่พระชุมพรรคคนงานเกาหลีเหนือว่า มีแผนจะปล่อยดาวเทียมทางทหารดวงแรกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากกังวลว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ตลอดจนควาทะเยอทะยานของคิม จอง อึน และสายสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ กับมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียที่ใกล้ชิดขึ้น อาจจะยิ่งผลักให้เกาหลีเหนือกระทำการยั่วยุมากขึ้นในปีนี้ในขณะที่การเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อปลดยุตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือชะงักมาตั้งแต่ปี 2019 และยังไม่มีวี่แววว่าผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือจะเลือกกลับคืนสู่โต๊ะเจรจราในเร็วๆ นี้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ