วาระสำคัญที่สุดสำหรับการเยือนของมาร์กอสครั้งนี้ก็คือเรื่องทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในน่านน้ำดังกล่าวเป็นวงกว้าง ทับซ้อนกับหลายประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์
การหาทางหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจเกิดขึ้นในน่านน้ำพิพาทดังกล่าว กลายเป็นหัวใจสำคัญของการเยือนปักกิ่งครั้งนี้ของผู้นำฟิลิปปินส์
การจะทำความเข้าใจปัญหาบนพื้นที่พิพาทต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจพื้นที่ของทะเลจีนใต้ก่อน
ศึกชิงดวงจันทร์ “จีน” คือคู่แข่งที่น่ากลัวของสหรัฐฯ
รู้จัก! “เรือหลวงช้าง” เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่ ทร.ไทย
ทะเลจีนใต้ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเช่น บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงจีน และไต้หวัน
บริเวณนี้มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคง เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะสำหรับจีน น้ำมันที่ใช้ในประเทศกว่าร้อยละ 80 ที่ขนมาจากตะวันออกกลางต้องผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้ หากจุดนี้ถูกปิดกั้นหรือถูกครอบครอง นั่นหมายความว่าซัพพลายพลังงานของชาติเหล่านี้จะมีปัญหาทันที
นอกจากนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน คาดการณ์ว่า น้ำมันสำรองอยู่มากถึง 2.8 พันล้านบาเรลล์ และมีปริมาณก๊าซธรรมชาติอยู่ถึง 266 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตและยังเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
คำถามคือ ใครเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ หากยึดเอาหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล หรือ UNCLOS พื้นที่ของทะเลจีนใต้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศต่างๆ ตามการแบ่งเขตเศรษฐกิจที่ให้พื้นที่ทำประมงไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศนั้นๆ
ส่วนพื้นที่ที่เกินกว่า 200 ไมล์ทะเลหลังจากนั้นให้ถือเป็นน่านน้ำสากล แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาจีนพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือในพื้นที่ส่วนที่เกินจาก 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง โดยจีนใช้วิธีลากเส้นเขตแดนของตนเองที่เรียกว่า เส้นประ 9 เส้น
เส้นประ 9 เส้นนี้ปรากฎว่าไปครอบคลุมกินพื้นที่ถึงร้อยละ 90 ของทะเลจีนใต้ และกินพื้นที่ของประเทศอื่นๆ ที่กำหนดตาม UNCLOS
จีนให้เหตุผลว่า เขตแดนตามเส้นประป็นเขตแดนที่ขีดไว้เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนในสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง เมื่อจีนอ้างเขตแดนทางประวัติศาสตร์ ชาติอื่นๆ จึงทำบ้าง
โดยเวียดนามได้ระบุว่าเคยปกครองหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรดลีย์ที่พื้นที่บางส่วนอยู่ในน่านน้ำสากลมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 หรือตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา
ในขณะที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรดลีย์ และทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นข้อพิพาทที่ดำเนินเรื่อยมา
เมื่อปี 1982 จีนได้ลงนามอนุสัญญา UNCLOS และให้สัตยาบันในปี 1996 ในคราวนั้นหลายฝ่ายคาดว่าจีนจะทำตามหลักการเรื่องเขตแดนที่ UNCLOS วางไว้
อย่างไรก็ตาม หลังการเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิก ที่ผ่านมาจีนยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมที่บ่งชี้ถึงความพยายามในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด
กรณีที่เด่นชัดที่สุดคือการพยายามสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทางการทหารไม่ว่าจะเป็น ฐานทัพเรือ ลานเครื่องบิน คลังเก็บอาวุธ ไปจนถึงแท่นขุดเจาะน้ำมัน บนเกาะธรรมชาติและเกาะเทียมของทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ นอกจากนี้ยังมีการห้ามเรือประมงของชาติอื่นเข้าไปทำการประมง
หมู่เกาะสแปรตลีย์อยู่ตรงไหน อยู่ช่วงระหว่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ประกอบไปด้วยเกาะเล็กใหญ่มากมายหลายร้อยเกาะ
กิจกรรมของจีนบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่พอใจอย่างมาก เพราะสำหรับฟิลิปปินส์ หากใครควรจะมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรจากที่นี่ หนึ่งในนั้นต้องเป็นฟิลิปปินส์ เพราะหากวัดจากระยะทางจากชายฝั่ง หมู่เกาะแห่งนี้อยู่ใกล้ฟิลิปปินส์มากที่สุด
การสร้างเกาะเทียมของจีน การส่งเรือรบเข้ามา รวมถึงถูกห้ามทำประมงในบริเวณหมู่เกาะแห่งนี้ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่พอใจจีนอย่างมาก
ปี 2013 ฟิลิปปินส์นำเรื่องนี้จนมีการนำเรื่องนี้ไปฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะออกคำวินิจฉัยมาเมื่อปี 2016 ว่า จีนไม่มี “สิทธิ์ตามประวัติศาสตร์”ในบริเวณดังกล่าว และการกระทำของจีนเป็นการละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตามศาลที่กรุงเฮกไม่มีอำนาจในการบังคับให้จีนดำเนินการตามคำตัดสิน และขณะนี้จีนก็ยังคงเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ต่อไป
นี่คือที่มาที่ไปของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องดูว่าการพูดคุยกันของ 2 ผู้นำจะนำไปสู่การคลี่คลายข้อขัดแย้งที่แก้ยากและฝังลึกได้มากขนาดไหน
โดยประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ เข้าพบประธานาธิบดีสี เมื่อวานหลังเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง
ในแถลงการณ์ร่วมหลังการหารือของสองผู้นำระบุถึงการทำข้อตกลง 14 ข้อระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดด้านปัญหาความมั่นคงและเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
ผู้นำทั้งสองเห็นชอบตั้งช่องทางสื่อสารโดยตรงระหว่างกันในกรณีทะเลจีนใต้ โดยเป็นการสื่อสารระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมให้คำมั่นว่าจะเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอีกฝ่าย
การตั้งช่องทางสื่อสารโดยตรงกรณีทะเลจีนใต้สอดคล้องกับถ้อยแแถลงของกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ก่อนประธานาธิบดีมาร์กอสเดินทางเยือนจีน โดยบอกว่านี่จะเป็นเครื่องมือหลีกเลี่ยงการประเมินสถานการณ์และการสื่อสารผิดพลาดระหว่างกันในกรณีความขัดแย้ง แต่รายงานระบุว่าในการพูดคุยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวว่าจีนต้องการยุติข้อพิพาททางทะเลกับฟิลิปปินส์ผ่านการหารือ แต่ก็ไม่ยอมเอ่ยถึงทะเลจีนใต้ตรงๆ
ประธานาธิบดีจีนและฟิลิปปินส์ยังเห็นชอบฟื้นการเจรจาเพื่อสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ตลอดจนฟื้นการหารือด้านความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่รวมถึงพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานนิวเคลียร์ และยังระบุว่ายามฝั่งจากจีนและฟิลิปปินส์จะพบกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อหารือเกี่ยวกับ “ความร่วมมือในทางปฏิบัติ”
การเยือนจีนของมาร์กอส จูเนียร์ ครั้งนี้ ถูกมองเป็นความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการแก้ไขบาดแผลในความสัมพันธ์ หลังฟิลิปปินส์นำเรื่องจีนอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮกและมีคำตัดสินออกมาเมื่อปี 2016 ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ของจีน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าการเยือนครั้งนี้ของผู้นำฟิลิปปินส์คงไม่อาจเปลี่ยนจุดยืนของจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างกว้างขวางในทะเลจีนใต้ได้
แต่การจัดการเรื่องความขัดแย้ง จีนก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะฟิลิปปินส์เองก็มีพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่
ในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ของฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ประกาศเข้าข้างและปกป้องฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้ด้วยเพื่อต้องการคานอำนาจจีนนำไปสู่ความตึงเครียดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ต่างซ้อมรบในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้บ่อยขึ้น หลายครั้งเกิดการเผชิญหน้าและเกือบนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
เหตุการณ์การเผชิญหน้าล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว นี่คือภาพที่กองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ เผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นนาทีที่เครื่องบินขับไล่ J-11 ของกองทัพเรือจีนเข้าประชิดเครื่องบินลาดตระเวน RC-135 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีลูกเรืออยู่ 30 คนในระยะไม่ถึง 6 เมตรจากจมูกเครื่องบิน เพื่อสกัดเครื่องบิน R-135 ลำนี้ จนสุ่มเสี่ยงเป็นการปะทะกันกลางอากาศ และทำให้เครื่องบินสหรัฐฯ ต้องบินหลีกออกไปเพื่อไม่ให้เกิดการชน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมาเหนือทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ ยืนยันว่าปฏิบัติการลาดตระเวนเหนือทะเลจีนใต้ตามปกติของเครื่องบินลาดตระเวร RC-135 ลำนี้ ชอบด้วยกฎหมายเพราะบินในเขตน่านฟ้าสากล แต่จีนบอกว่าสหรัฐฯ บิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเครื่องบินสหรัฐฯ จงใจทำการลาดตระเวนระยะใกล้เหนือชายฝั่งทางตอนใต้ของจีนและหมู่เกาะพาราเซล จนทำให้จีนต้องส่งเครื่องบินกองทัพเรือติดตาม
จีนยังบอกว่าเครื่องบินลาดตระเวนลำนี้ของสหรัฐฯ ไม่สนคำเตือนและยังเปลี่ยนการเคลื่อนที่กะทันหันบินเข้าใกล้เครื่องบินติดตามของจีน และสิ่งที่นักบินของจีนทำก็สอดคล้องกับกฎหมายและหลักปฏิบัติแล้ว
เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ทะเลจีนใต้คือพื้นที่เปราะบางอย่างยิ่ง และกิจกรรมของมหาอำนาจทั้งสองจีนและสหรัฐฯ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะยกระดับความตึงเครียดในพื้นที่นี้ให้เพิ่มมากขึ้น