ภาพถ่ายดาวเทียมของบริษัท Maxar Technologies Inc. ของสหรัฐฯที่ถูกบันทึกไว้โดยดาวเทียมลอยลำอยู่เหนือหลายเมืองของจีนทั้งกรุงปักกิ่ง คุนหมิง นานจิง เฉิงตู ถังชาน และหูโจว ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงช่วงต้นเดือนมกราคมปีนี้
ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นภาพของผู้คนที่รวมตัวกันอย่างแออัดอยู่ตามฌาปนสถานหลายแห่งในจีน
ก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนักและโซเชียลมีเดียในจีนเคยเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกภาพที่ผู้คนจำนวนมากไปรวมตัวกันตามฌาปนสถานในหลายเมือง เพื่อรอคิวนำศพของสมาชิกในครอบครัวมาประกอบพิธีทางศาสนา
ไขข้อสงสัย ต่างชาติไปเที่ยวจีนได้หรือยัง? หลังเปิดประเทศ 8 ม.ค.
ไทยติด Top 5 จุดหมายท่องเที่ยวชาวจีนหลังเปิดประเทศ
ภาพทั้งหมดนี้คือหนึ่งในสิ่งที่บ่งชี้ว่า จีนอาจกำลังเจอกับการระบาดที่หนักขึ้นหลังยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลที่บังคับใช้มานานกว่า 3 ปีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา
นอกเหนือภาพฌาปนสถานที่คิวแน่นแล้ว ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานว่า โรงพยาบาลหลายแห่งมีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บุคลากรทางการแพทย์บางคนในสัมภาษณ์ว่า พวกเขาไม่ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ไว้เลย
นับตั้งแต่ที่จีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางการจีนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 37 ราย
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้หากพิจารณาจากภาพความแออัดของโรงพยาบาลจากผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจรวมถึงคิวที่แน่นของฌาปนสถาน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวด้านสาธารณสุขของจีนที่เปิดเผยว่า เฉพาะในมณฑลเหอหนาน ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเพียงมณฑลเดียว พบประชาชนกว่าร้อย 89 หรือประมาณ 88.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 99.4 ล้านคนของมณฑลแห่งนี้ ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว
หากข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันหมายความว่าระบบสาธารณสุขของจีนทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง และกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ
คำถามก็คือว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนสูงเช่นนี้จริง จะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์การระบาดในภาพรวมหรือทั่วโลก ในวันที่นักท่องเที่ยวชาวจีนกำลังออกเดินทางหลังการเปิดประเทศ
ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก แถลงประเด็นนี้เมื่อคืนที่ผ่านมาว่า แม้สถานการณ์โควิดในจีนจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อยุโรปแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO รายนี้ระบุด้วยว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลที่ประเทศต่างๆบังคับใช้มาตรการคุมเข้มโควิดที่เข้มงวดและแบ่งแยกต่อนักเดินทางจากจีน โดยไม่ได้อยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้หลายประเทศในยุโรปรวมถึง ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร ได้การออกมาตรการคัดกรองเป็นพิเศษหรับคนที่เดินทางมาจากประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยนักเดินทางจีนแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เป็นลบ หรือหลักฐานการฉีดวัคซีนก่อนเข้าประเทศเหล่านี้
นอกเหนือจากยุโรปแล้ว หลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังออกมาตรการลักษณะเดียวกัน และเรื่องนี้กำลังบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้บังคับใช้ข้อจำกัดต่อนักเดินทางจากจีน โดยต้องตรวจโควิดด้วยวิธี PCR ทันทีที่เดินทางถึงเกาหลีใต้
จีนไม่พอใจอย่างหนักและออกมาตอบโต้ โดยเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) สถานทูตจีนในกรุงโซลประกาศยุติการออกวีซ่าระยะสั้นแก่ชาวเกาหลีใต้ที่จะเดินทางไปยังจีน
ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ยังไม่ทันจะคลี่คลายลง ในวันนี้คือมีอีกหนึ่งคู่ขัดแย้ง
วันนี้ 11 ม.ค. ญี่ปุ่นออกประกาศว่า คนที่มาจากจีนทุกคนต้องได้รับการตรวจเชื้อโควิด และหากพบว่าติดเชื้อทันทีต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 7 วัน
และนับตั้งแต่วันพฤหัสบดีเป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางมาจากเขตปกครองพิเศษมาเก๊าของจีนทุกคนด้วยเที่ยวบินตรง จะต้องแสดงผลตรวจโควิดที่เป็นลบในช่วง 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเมื่อมาถึงญี่ปุ่นแล้วก็ต้องเข้ารับการตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจ PCR Test ทันที
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการญี่ปุ่น ทำให้สถานทูตจีนที่กรุงโตเกียวออกมาประกาศตอบโต้ด้วยการยุติการออกวีซ่าระยะสั้นให้ชาวญี่ปุ่นเหมือนกับที่ทำกับเกาหลีใต้ ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดแถลงข่าวในเรื่องนี้เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา
หลังจากนั้นจีนก็โต้กลับ โดย หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ออกมาแถลงว่า ประเทศต่างๆใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อนักเดินทางชาวจีนโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักการทางวิทยาศาสตร์
ข้อเรียกร้องของโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน สอดคล้องกับจุดยืนของผู้แทนอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของจีน ที่ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติเร่งสร้างความแข็งแกร่งและยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมทางอากาศทั่วโลกที่ซบเซามานานกว่า 3 ปี สามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
การระบาดของโควิดในจีนคือหนึ่งในปัจจัยที่ธนาคารโลกออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้
อัยฮาน โคส ผู้อำนวยการกลุ่มการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก ออกมาเปิดเผยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยระบุว่า อัตราการเติบโตของของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ น่าจะอยู่ที่เพียง 1.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 3 ทศวรรษ และเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของโลกกำลังขยับเข้าใกล้ภาวะถดถอย
ธนาคารโลกยังคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ว่าจะมีการเติบโตลดลงเหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 1.9 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตอาจลดต่ำลงเฉียด 0 เปอร์เซ็นต์ จากวิกฤติพลังงานราคาพุ่งสูง ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
แต่ในทางกลับกัน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของจีนอาจมีการเติบโตได้ถึง 4.3 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แต่ก็ยังเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักหน่วงที่สุด คือ กลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีสัดส่วนของประชากรที่ยากจนสุดขั้วรวมกันคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของคนยากจนทั่วโลก