รัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้ประกาศว่าจะส่งรถถังรุ่นชาเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) และปืนใหญ่ให้แก่ยูเครน โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ต่อสายตรงโทรหาผู้นำยูเครนเมื่อวานนี้ 14 ม.ค.
โดยรถถังชาเลนเจอร์ 2 เป็นรถถังต่อสู้หลักสัญชาติอังกฤษ ถูกออกแบบในช่วงทศวรรษ 1990 เพื่อใช้ในพื้นที่ต่อสู้โดยตรง ใช้ทหารควบคุม 4 นายคือ ผู้บังคับการ พลยิง พลบรรจุกระสุน และพลขับ
สหรัฐฯจับตารัสเซียตั้ง “เกราซีมอฟ” คุมศึกยูเครน
กลาโหมอังกฤษ เผยรัสเซียอาจยึดเมืองโซเลียดาร์ได้เกือบหมด
รถถังรุ่นนี้เคยถูกนำไปรบในสงครามอิรักตอนช่วงทศวรรษ 2000 สงครามในคอซอวอ สงครามบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
ปัจจุบันมีกองทัพของ 2 ประเทศ ที่มีรถถังนี้อยู่ในครอบครอง ได้แก่ สหราชอาณาจักรที่มีอยู่ 386 คัน และโอมานมีอยู่ 38 คัน
ชาเลนเจอร์ 2 ติดอาวุธหลักเป็นปืนใหญ่รถถังลำกล้องเกลียวขนาด 120 มิลลิเมตร ที่สามารถยิงได้ทั้งกระสุนเจาะเกราะก้านยาว และกระสุนกะเทาะเกราะ ได้มากถึง 47 นัด เพื่อทำลายรถถังฝั่งตรงข้าม
ส่วนอาวุธรองเป็นปืนกลร่วมแกน ขนาด 7.62 มิลลิเมตร ใช้สังหารบุคคลหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้หุ้มเกราะ
ขณะที่ระบบเล็ง ป้อมปืน และกระบอกปืน มีความเสถียรมาก ทำให้สามารถเข้าปะทะกับเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วทั้งในขณะหยุดนิ่งและเคลื่อนที่
นอกจากนี้ ชาเลนเจอร์2 ยังมีระบบเกราะป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถต้านทานการโจมตีโดยตรงจากศัตรูได้
นี่ทำให้รถถังนี้ได้ชื่อว่าเป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในการรบมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะสามารถรบได้ทั้งแบบจู่โจมและตั้งรับ
โดยกองทัพสหราชอาณาจักรระบุว่า ชาเลนเจอร์ 2 ไม่เคยพังจากการโจมตีของศัตรูเลยแม้แต่ครั้งเดียว
สอดคล้องกับความเห็นของ จัสติน ครัมป์ ทหารผ่านศึกและซีอีโอของบริษัทด้านข่าวกรอง ที่ระบุกับสำนักข่าวบิสซิเนสอินไซเดอร์ว่า รถถังชาเลนเจอร์แม้จะถูกสร้างมากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็มีประสิทธิภาพดีกว่ารถถังของรัสเซียทุกรุ่นในสนามรบ
อย่างไรก็ดี ซีอีโอของบริษัทด้านข่าวกรองรายกล่าวเสริมว่า การส่งรถถังชาเลนเจอร์ในครั้งนี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการช่วยเหลือด้านอาวุธโดยตรง เพราะจำนวนรถถังที่จะส่งไป ไม่ได้มากพอที่จะเปลี่ยนเกมสงครามอย่างสิ้นเชิง
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนักวิเคราะห์รายอื่นๆ ที่มองว่า การประกาศส่งรถถังให้แก่ยูเครนของสหราชอาณาจักรเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อส่งสัญญาณกดดันโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ให้ยอมส่งมอบรถถังรุ่นลีโอพาร์ดให้แก่ยูเครน หลังจากที่ยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อน
อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณเปิดประตูให้ชาติตะวันตกอื่น ๆ ส่งรถถังไปช่วยยูเครนได้อย่างไม่ลังเล