หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง “คนเหล็ก (Terminator)” เชื่อว่าหนึ่งในหุ่นยนต์สุดล้ำซึ่งเป็นที่จดจำของใครหลายคนน่าจะหนีไม่พ้น หุ่นยนต์ T-1000 หุ่นสังหารตัวร้ายจากภาพยนตร์ภาค 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นหุ่นเหล็กไหลสีเงินที่เปลี่ยนสภาพตัวเองเป็นของเหลว จนทุบก็ไม่เจ็บยิงไม่ก็ตาย แถมยังสามารถเคลื่อนย้ายผ่านช่องว่างต่าง ๆ ได้ด้วย
และเชื่อหรือไม่ว่า หุ่นยนต์สุดล้ำนี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในอนาคตหรือในภาพยนตร์แล้ว!
นักวิทย์สแกนหาคำตอบ “ข้างในมัมมี่” มีสภาพเป็นอย่างไร?
คุกคามการศึกษา? “ChatGPT” ทำข้อสอบแพทย์-กฎหมายผ่าน!
แก่นโลกชั้นใน “หยุดหมุน-เปลี่ยนทิศ” เรื่องปกติหรือสัญญาณอันตราย?
ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากจีนและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันพัฒนา “หุ่นยนต์เปลี่ยนรูปร่าง” ขนาดเล็กขึ้นมา มันสามารถละลายกลายเป็นของเหลว และก่อร่างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ ราวกับว่าเป็นหุ่น T-1000 ขนาดจิ๋วก็ไม่ปาน
หุ่นยนต์โลหะเหลวนี้มีความสูงเพียง 1 เซนติเมตร โดยนักวิจัยได้ทำการทดลองให้มันลอดผ่านกรงขังจำลอง แบบเดียวกับฉากสุดไอคอนิกในคนเหล็ก 2 โดยเจ้าหุ่นจิ่วนี้ได้ทำการหลอมละลายตัวเองเพื่อหลุดออกมาจากกรง จากนั้นก็ค่อย ๆ รวมตัวกันกลับมาเป็นสภาพเดิมอีกครั้ง กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาร่วม ๆ 500 วินาที หรือประมาณ 8 นาทีกว่า ๆ
ความสำเร็จนี้เกิดจากการที่นักวิจัยได้สร้างวัสดุที่สามารถเปลี่ยนสถานะได้ เรียกว่า “Magnetoactive Solid-Liquid Phase Transitional Matter (MPTM)” โดยใช้แกลเลียม (Gallium) โลหะอ่อนที่จุดหลอมละลายต่ำ เพียง 30 องศาเซลเซียส เป็นพื้นฐานในการสร้าง
MPTM นี้มีคุณสมบัติในการหลอมละลายเมื่อเจอกับความร้อน โดยไม่ต้องพึ่ง แหล่งความร้อนภายนอกอย่างปืนความร้อนหรือกระแสไฟฟ้า แต่ฝังอนุภาคแม่เหล็กไว้ภายในหุ่น เมื่อมีการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก จะทำให้อนุภาคแม่เหล็กนี้ร้อนขึ้น และหลอมละลายโครงภายนอกที่เป็นแกลเลียม จนกลายเป็นภาพที่เจ้าหุ่นจิ๋วหลอมละลายตัวเองได้นั่นเอง
จากนั้นใชเสนามแม่เหล็กในการควบคุมโลหะเหลว ให้เคลื่อนที่ออกมาจากคุกได้อย่างง่ายดาย และเมื่ออุณหภูมิเย็นลงตามธรรมชาติ แกลเลียมเหลวก็จะกลับมารวมตัวกันใหม่
คาร์เมล มาจิดี วิศวกรจากมหาวิทยาลัยคาร์เนอจี เมลลอน ในสหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “อนุภาคแม่เหล็กข้างในหุ่นมีบทบาท 2 ประการ ... อย่างแรกคือพวกมันทำให้วัสดุตอบสนองต่อการเหนี่ยวนำความร้อนด้วยสนามแม่เหล็ก ทำให้วัสดุร้อนขึ้นและเกิดการเปลี่ยนสถานะ และอนุภาคแม่เหล็กยังช่วยให้หุ่นยนต์มีความคล่องตัวและความสามารถในการเคลื่อนที่เพื่อตอบสนองต่อสนามแม่เหล็กได้ด้วย”
ทีมวิจัยเชื่อว่า หุ่นยนต์นี้จะมีประโยชน์ในการวิศวกรรมและการแพทย์ โดยเฉพาะเพื่อการลำเลียงยาไปยังอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งโดยเฉพาะ รวมถึงอาจใช้เพื่อเคลื่อนย้ายสิ่งแปลกปลอมภายในร่างกายออกไป หรือประกอบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลขนาดเล็กในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก
ทีมวิจัยได้ทดลองใช้หุ่นยนต์จิ๋วของพวกเขาในการดึงวัตถุแปลกปลอมออกจากกระเพาะอาหารของมนุษย์จำลอง ด้วยการให้หุ่นหลอมละลายเหนือสิ่งแปลกปลอม แล้วกระดึ๊บ ๆ นำสิ่งแปลกปลอมออกจากกระเพาะ
“การศึกษาในอนาคตควรสำรวจเพิ่มเติมว่า หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถนำมาใช้ในบริบททางการแพทย์ได้อย่างไรบ้าง ... สิ่งที่เราแสดงเป็นเพียงการสาธิตเพียงครั้งเดียว เป็นเพียงการพิสูจน์แนวคิด แต่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อเจาะลึกว่า สิ่งนี้สามารถนำไปใช้กับการนำส่งยาหรือการนำสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายได้อย่างไรหรือไม่” มาจิดีกล่าว
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของหุ่นยนต์เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างใกล้ชิด และต้องมีการควบคุมให้ดี ไม่ให้มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้อย่างไม่เหมาะสม
It’s not exactly the T-1000—yet. But researchers have created a liquid metal robot that can mimic the shape-shifting abilities of the silvery, morphing killer robot in Terminator 2: Judgement Day. https://t.co/tyNW1CPLCy pic.twitter.com/WV5NIsQQHn
— News from Science (@NewsfromScience) January 25, 2023
เรียบเรียงจาก Futurism