เมื่อพูดถึงความรัก หลายคนมักเชื่อมโยงไปถึง “ความหวาน” จนนำไปสู่การเปรียบเปรยคู่รักที่สวีตกันว่า “หวานจนมดขึ้น” แม้ในความเป็นจริงมดจะไม่สามารถได้กลิ่นความรักได้ แต่ล่าสุดนักวิจัยพบแล้วว่า พวกมันสามารถ “ดมกลิ่นมะเร็ง” ได้
ในงานวิจัยชิ้นใหม่ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนีรายงานว่า มดสามารถตรวจจับกลิ่นของมะเร็งหลายชนิดได้ โดยจะตรวจจับจาก “กลิ่นปัสสาวะ” ของผู้ป่วย ซึ่งตามธรรมชาติจะเปลี่ยนไปเพราะมะเร็ง
แพทย์เตือน PM2.5 มีโอกาสกระตุ้นโรคมะเร็ง หากสะสมเป็นระยะเวลานาน
อันตรายจากอาหารใช้น้ำมันทอดซ้ำ ทั้งคนขาย-คนซื้อเสี่ยงก่อโรคมะเร็ง
7 กลุ่มอาหารก่อมะเร็ง สะดวก รวดเร็ว แต่กินซ้ำกินนานพัฒนาเป็นมะเร็งได้
โลกของเราเต็มไปด้วยสัตว์หลายชนิดที่มีการรับรู้กลิ่นเป็นเลิศ หรือมีความสามารถทางประสาทสัมผัสด้านนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและแมลงต่าง ๆ
การตรวจจับและระบุกลิ่นรอบสภาพแวดล้อมของสัตว์เหล่านี้มีหลากหลายจุดประสงค์ เช่น การหาอาหาร ตรวจจับผู้ล่า และการหาคู่ ซึ่งที่ผ่านมา มนุษย์ได้มีการนำสัตว์เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ การใช้สุนัขตำรวจในการตามจับผู้ร้าย หรือการใช้สุนัขดมกลิ่นตามหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังในช่วงก่อนหน้านี้
อีกหนึ่ง “งานด้านการดม” ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามผลักดัน คือการดมเพื่อตรวจจับมะเร็ง การใช้สัตว์เพื่อตรวจหามะเร็งสามารถเพิ่มอัตราการตรวจพบในระยะเริ่มต้นได้
เรื่องนี้แม้จะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยปัจจุบันมีการฝึกสุนัขให้แยกแยะผู้ป่วยมะเร็งได้แล้ว แต่เมื่อเป็นสุนัขบางคนอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลกขนาดนั้น แต่ถ้าเป็น “มด” ล่ะก็ถือว่าแปลกใหม่ทีเดียว
ต้องทราบก่อนว่า เซลล์มะเร็งสามารถปล่อยสารเคมีเฉพาะที่เรียกว่า “สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC)” ซึ่งสามารถใช้ระบุมะเร็งได้ ดังนั้น สัตว์ต่าง ๆ รวมถึงมดที่มีความสามารถในการดมกลิ่นสูง จึงสามารถนำไปฝึกให้จดจำสารประกอบอินทรีย์ระเหยเหล่านี้ได้
นักวิทยาศาสตร์พบว่า มดดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ Formica fusca มีทักษะการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมมากเกี่ยวกับกลิ่น โดยแม้พวกมันจะไม่ได้รับรู้กลิ่นแบบเดียวกับในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่พวกมันก็สามารถรับกลิ่นที่แตกต่างกันได้ผ่านหนวดของพวกมัน ซึ่งมีตัวรับกลิ่นจำนวนมาก
พวกเขาได้ทำการทดลองฝึกมด Formica fusca จำนวน 70 ตัว ให้ดมกลิ่นความแตกต่างระหว่างปัสสาวะจากหนูที่มีสุขภาพดี และปัสสาวะจากหนูที่ถูกดัดแปลงร่างกายให้มีเนื้องอกมะเร็งที่ตัดมาจากมนุษย์
ผลการทดลองออกมาว่า หลังจากการฝึกฝนเพียงครั้งเดียว มดเหล่านี้สามารถจดจำกลิ่นของมะเร็งได้ยาวนานหลายวัน เนื่องจากพวกมันยังคงสามารถแยกหนูที่เป็นมะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ทีมวิจัยบอกว่า หลังจากการฝึกมดด้วยการให้พวกมันดมปัสสาวะของหนู แล้วให้รางวัลเป็นของหวานหากถูกต้อง เพียง 3 ครั้ง มดก็สามารถระบุสาร VOC ได้อย่างน่าเชื่อถือ และพบด้วยว่า ยิ่งเนื้องอกมีขนาดใหญ่เท่าใด กลิ่นปัสสาวะของหนูก็จะยิ่งเปลี่ยนไปจากปกติมากขึ้นเท่านั้น
การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า มดมีศักยภาพที่จะใช้เป็นวิธีตรวจหามะเร็งที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยนี่เป็นการต่อยอดจากงานก่อนหน้านี้ของทีมวิจัยนี้ ซึ่งพวกเขาเคยแสดงให้เห็นว่า มดสามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งของมนุษย์ที่เติบโตในห้องปฏิบัติการได้
เรียบเรียงจาก Medical News Today
ภาพจาก Getty Image