ยูเอ็น ระบุ ใกล้ยุติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ตุรกีและซีเรียผ่านมากว่าสัปดาห์แล้วยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งสองประเทศขณะนี้พุ่งกว่า 37,000 รายแล้ว และคาดยอดที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ 2-3 เท่า

ขณะเดียวกันกระบวนการค้นหาผู้รอดชีวิตและร่างผู้เสียชีวิตใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว โดยทีมกู้ภัยกำลังเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางความหวังอันริบหรี่เพราะโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตน้อยลงมาก

วานนี้ 13 ก.พ. ‘มาร์ติน กริฟฟิธส์’ รองเลขาธิการสหประชาชาติ  ด้านกิจการมนุษยธรรมและสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้กล่าวในระหว่างการลงพื้นที่ประสบภัยที่เมืองอเลปโปในซีเรียว่า กระบวนการช่วยเหลือและค้นหาผู้รอดชีวิตทั้งในตุรกีและซีเรียใกล้จะสิ้นสุดแล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวแทน

แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย เสียชีวิตพุ่ง 33,179 ราย - UN ห่วงพื้นที่ความขัดแย้งซีเรีย อาจถูกปิดกั้นการช่...

พบคนไทยเสียชีวิต 1 ราย เหตุแผ่นดินไหวตุรกี

ขณะนี้บางพื้นที่ได้หยุดภารกิจค้นหาและลดขนาดทีมกู้ภัยลง เพื่อเริ่มกระบวนการเก็บกวาดซากอาคาร รวมถึงรื้อถอนอาคารที่พังเสียหายออกแล้ว

ผ่านไปแล้วกว่า 8 วัน ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเหลือน้อยลงอย่างมาก เพราะหลายฝ่ายประเมินว่าท่ามกลางอากาศหนาวและเวลาที่ผ่านไปกว่าสัปดาห์ โอกาสที่คนที่ติดอยู่ใต้ซากจะรอดชีวิตก็เหลือน้อยลงมาก

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตในตุรกีขณะนี้คือ 31,643 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตในซีเรียอยู่ที่ 5,714 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วมากกว่า 37,000 ราย

อย่างไรก็ดี หลายคนยังไม่หมดหวัง ทีมกู้ภัยในหลายพื้นที่ยังคงค้นหาผู้รอดชีวิตแข่งกับเวลาที่กำลังหมดลงเรื่อยๆ

ภาพเจ้าหน้าที่กู้ภัยในตุรกีค่อยๆ ขุดอุโมงค์เข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต 2 คนที่ติดอยู่ในด้านในซากอาคาร อย่างไรก็ตามการทำงานอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเพราะอาคารที่อยู่ด้านในอาจพังถล่มลงมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมงในการเข้าถึงผู้รอดชีวิต

หนึ่งในผู้ที่ยังรอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีคือเด็กชายวัย 13 ปีรายนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ช่วยเหลือเด็กคนนี้ออกมาจากซากอาคาร หลังติดอยู่นาน 182 ชั่วโมงหรือกว่า 7 วัน

เด็กหญิงวัย 4 ขวบคนนี้ก็เพิ่งได้รับความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัย หลังติดอยู่ใต้ซากอาคารนานกว่า 7 วัน เช่นเดียวกับพี่สาวของเธอ ที่ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่

เด็กหนุ่มวัย 17 ปีคนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผู้รอดชีวิตหลังติดอยู่ใต้ซากอาคารนาน 198 ชั่วโมง ก่อนที่ทีมกู้ภัยจะช่วยเขาออกมาสำเร็จและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

แม้หลายคนจะยังมีชีวิตรอดจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง แต่ชีวิตหลังจากนี้ก็ยากลำบากมาก เพราะแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายรุนแรงมาก อาคารบ้านเรือนแทบทุกหลังพังลงมาเหลือแต่เพียงซากปรักหักพังเท่านั้น

ภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมตุรกี แสดงให้เห็นอาคารจำนวนมากในเมืองคาห์รามานมาราสและฮาไตในตุรกีที่พังทลายลงจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในครั้งนี้

ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เองทำให้หลายฝ่ายประเมินว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมากกว่า 8 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่าที่ความเสียหายรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะความล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร

แผ่นดินไหวคราวนี้มีอาคารจำนวนมากเป็นอาคารใหม่ที่สร้างขึ้นหลังรัฐบาลตุรกีออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

กฎหมายนี้ออกมาในปี 2004 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 1999 ที่ทำให้อาคารจำนวนมากพังและส่งผลให้คนเสียชีวิตกว่า 18,000 ราย โดยกำหนดให้การสร้างอาคารต้องสามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวได้

และในปี 2018 ได้มีการปรับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้โครงสร้างอาคารในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวได้ง่าย ต้องใช้คอนกรีตคุณภาพสูงเสริมด้วยเหล็กเส้น เสาและคานต้องกระจายน้ำหนักเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ดูเหมือนการบังคับใช้กฎหมายจะหละหลวม เมื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาคารจำนวนมากที่ถล่มเป็นอาคารที่สร้างใหม่ ส่งผลให้ชาวตุรกี โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่พอใจอย่างหนัก

อย่างไรก็ดี รัฐบาลตุรกีได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 113 คนซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้อาคารหลายแห่งพังถล่มแล้ว

เนื่องจากตุรกีมีอาคารสร้างใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะในนครอิสตันบูล หนึ่งในเมืองสำคัญและเมืองเศรษฐกิจของประเทศ  อาคารราว 817,000 แห่งหรือร้อยละ 70 ของอาคารทั้งหมดในเมืองสร้างขึ้นหลังปี 2000 

นักธรณีวิทยาจึงเตือนว่านครอิสตันบูลควรเตรียมรับมือกับแผ่นดินไหวรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากปัจจัยด้านการก่อสร้างอาคารที่ไม่ตรงตามมาตรฐานแล้ว

ศาสตราจารย์ซูกรู เออร์ซอย (Sukru Ersoy) ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยยิลดิซ เทคนิคอล (Yildiz Technical University)  ของตุรกีระบุว่า เนื่องจาก ‘รอยเลื่อนใต้ทะเลมาร์มารา’  ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างใต้นครอิสตันบูลพอดี โดยแนวรอยเลื่อนดังกล่าว สามารถสร้างแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเกินกว่า 7.0 แมกนิจูดได้ถึง 2 ครั้งใน 1 ปี

แผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาดนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเดือนส.ค.ปี 1999 เกิดแผ่นดินไหว 7.6 แมกนิจูดทางตะวันตกของภูมิภาคมาร์มาราในตุรกี และในเดือนพ.ย.ปีเดียวกันที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2  ในเขตดุซเช

นอกจากนี้โครงสร้างทางธรณีวิทยาของครอิสตันบูลส่วนใหญ่เป็นชั้นหินที่ถูกล้อมรอบด้วยธารน้ำใต้ดินซึ่งกัดเซาะชั้นหินมาเป็นเวลานาน

ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมือง ทั้งการสร้างบ้านเรือน ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนอาคารสำนักงานจำนวนมากอาจส่งผลให้โครงสร้างชั้นหินใต้นครอิสตันบูลต้องแบกรับน้ำหนักจากสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างหนัก

ปัจจัยทั้งหมดซึ่งรวมถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างอาคารทำให้หลายอาคารในนครอิสตันบูลมีโอกาสที่จะถล่มลงมา

โดยข้อมูลจากเทศบาลนครอิสตันบูลได้เปิดเผยว่า ขณะนี้มีอาคารกว่า 90,000 แห่งในนครอิสตันบูลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะพังถล่มจากแผ่นดินไหว และอาคารอีก 170,000 แห่งถูกระบุว่า มีความเสี่ยงระดับปานกลางที่จะพังถล่ม จากจำนวนอาคารบ้านเรือนที่มีอยู่ทั้งหมดมากกว่า 1 ล้าน 2 แสนแห่งในเมืองแห่งนี้

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ