สถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มมีโอกาสเข้าขั้นวิกฤติหลัง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศ “ระงับ” การปฏิบัติตามสนธิสัญญานิวสตาร์ท (New START) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ว่าด้วยการตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียและสหรัฐฯ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ระบุว่า สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีผลให้ “ระงับ” มีแต่ต้องยกเลิกข้อตกลงเท่านั้น
สนธิสัญญานิวสตาร์ท จะมีผลสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2026 ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมองว่ารัสเซียอาจไม่ต้องการขยายสัญญา และหากรัสเซียตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ก็จะกระตุ้นให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียเร่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเช่น จีน อินเดีย และปากีสถาน ก็จะระดมสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ต่อมา ปูตินออกมากล่าวสุนทรพจน์ถึงสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ายูเครนมีการร้องขออาวุธจากชาติอื่น ๆ มาตั้งแต่ก่อนสงครามปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปีก่อนแล้ว และชาติตะวันตกกำลังคุกคามการดำรงอยู่ของรัสเซียโดยใช้ความขัดแย้งกับยูเครนเป็นข้ออ้าง แม้ชาติตะวันตกเหล่านั้นจะรู้ดีว่าไม่มีวันชนะรัสเซียได้ก็ตาม
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินยังระบุด้วยว่าต้องการเพิ่มศักยภาพทางการทหารของรัสเซียด้วย โดยมีแผนสำหรับก่อสร้างและพัฒนากองทัพสำหรับปี 2021 ถึง 2025 ซึ่งเป็นการเสริมสร้างกองทัพบกและกองทัพเรือ รวมไปถึง “กองกำลังนิวเคลียร์” เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งประธานาธิบดีปูตินมั่นใจว่า ประชาชนส่วนมากในรัสเซีย สนับสนุนแผนปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนครั้งนี้
ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนจึงมองว่า หากรัสเซียมีแผนเสริมสร้างกองทัพรวมถึงกองกำลังนิวเคลียร์แล้ว จะส่งผลให้รัสเซียอาจกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง แม้ว่าทางรัสเซียจะออกมากล่าวว่าจะไม่มีการทดสอบนิวเคลียร์แน่นอนหากสหรัฐฯ ไม่ทำการทดสอบก่อน
รอยเตอร์ส (Reuters) ระบุว่า ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศที่มีคลังเก็บหัวรบนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีหัวรบนิวเคลียร์รวมทั้งหมดกว่า 5,977 หัวรบ ประมาณ 1,500 หัวรบถูกปลดประจำการแล้ว แต่อาจสามารถใช้งานได้อยู่ 2,889 หัวรบอยู่ในคลังสำรอง และ 1,588 หัวรบกำลังประจำการและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ รายงานของวารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม (Bulletin of the Atomic Scientists) ระบุว่ารัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์มากมาย โดยติดตั้งบนฐานยิงขีปนาวุธภาคพื้นดินประมาณ 812 ลูก ติดตั้งบนฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีปประมาณ 400 ลูก ติดตั้งบนฐานยิงจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ประมาณ 576 ลูก และติดตั้งที่ฐานยิงระเบิดขนาดใหญ่ประมาณ 200 ลูก
ด้านสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists หรือ FAS) ระบุว่าสหรัฐฯ ก็มีหัวรบนิวเคลียร์ไม่แพ้กัน โดยมีหัวรบนิวเคลียร์รวมทั้งหมดกว่า 5,428 หัวรบ ประมาณ 1,720 หัวรบถูกปลดประจำการแล้ว แต่อาจสามารถใช้งานได้อยู่เช่นกัน 1,964 หัวรบอยู่ในคลังสำรอง และ 1,744 หัวรบกำลังประจำการและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์บนฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีป 400 ลูก ติดตั้งบนฐานยิงจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ประมาณ 970 ลูก และติดตั้งบนฐานยิงระเบิดขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯ 300 ลูก และฐานยิงระเบิดทางยุทธวิธีทั่วยุโรปกว่า 100 ลูก
เรียบเรียงจาก Federation of American Scientists / Reuters / The Bulletin
ภาพจาก AFP