เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 2 คนออกมาให้ข้อมูลกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ขณะนี้ ยูเครนกำลังยื่นขอ อาวุธประเภท “คลัสเตอร์บอมบ์ (Cluster Bomb)” หรือ “ระเบิดลูกปราย“ จากสหรัฐฯ เพื่อนำไปติดตั้งกับโดรนแล้วโจมตีใส่กองทัพรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์บอมบ์นี้เป็นหนึ่งในอาวุธต้องห้ามที่มากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกสั่งแบนไม่ให้ใช้ในการทำสงคราม เนื่องจากมีอำนาจการโจมตีเป็นวงกว้าง เสี่ยงต่อการคุกคามชีวิตของพลเรือน
ยูเครนสู้สุดตัวในบัคมุต ลือเริ่มถอนทหารบางส่วนแล้ว ฝั่งรัสเซียเริ่มขาดกระสุน
ข่าวกรองอังกฤษอ้าง ทหารรัสเซียขาดแคลนอาวุธ ต้องใช้ “พลั่ว” สู้ยูเครน
จับตาสมรภูมิบัคมุต รัสเซียล้อมรอบด้าน ยูเครนต้านสุดฤทธิ์ แม้เหลือทางเข้า-ออกเส้นเดียว
โดยทั่วไปภายในคลัสเตอร์บอมบ์จะบรรจุระเบิดหรือกระสุนขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อหัวรบถูกยิง/ทิ้งจากอากาศยานหรือปืนยิงภาคพื้นดินไปถูกเป้าหมายหรืออยู่เหนือเป้าหมาย ก็จะปล่อยระเบิด/กระสุนขนาดเล็กออกมาเป็นวงกว้าง
ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะยินยอมให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้หรือไม่
เจสัน โครว์ และอดัม สมิธ คณะกรรมการด้านอาวุธของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยูเครนกำลังมองหา “MK-20” หรือ “CBU-100” ซึ่งเป็นคลัสเตอร์บอมบ์ประเภทปล่อยลงมาจากอากาศ รวมถึงกระสุนลูกปรายสำหรับปืนใหญ่อัตตาจร 155 มม. ด้วย
คลัสเตอร์บอมบ์ MK-20 นั้น เป็นระเบิดประเภททิ้งจากอากาศ โดยสามารถทิ้งลงมาจากเครื่องบินหรือโดรนก็ได้ สามารถปล่อยกระสุนย่อยหรือลูกระเบิดที่มีลักษณะเหมือนลูกดอกมากกว่า 240 ลูกได้
ส่วนกระสุนปืนใหญ่ที่ยูเครนต้องการนั้นคือ กระสุน Dual-Purpose Conventional Improved Munitions (DPICM) ซึ่งภายในกระสุนแต่ละนัด สามารถกระจายกระสุนย่อยออกมาได้อีก 88 นัด
ยูเครนต้องการกระสุนนี้เพื่อหยุดการบุกแบบ “คลื่นมนุษย์” ที่รัสเซียใช้ในการโจมตีเมืองบัคมุตในยูเครนตะวันออก ซึ่งสถานการณ์กำลังดุเดือดในขณะนี้
สมิธบอกว่า “กองทัพยูเครนเชื่อว่าขีปนาวุธเหล่านี้มีความสามารถในการเจาะเกราะที่ดีกว่าอาวุธที่ทิ้งจากโดรนทั่วไป”
โครว์และสมิธยังกล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ยูเครนยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อสหรัฐฯ ในการประชุมความมั่นคงมิวนิกเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อกดดันให้ทำเนียบขาวอนุมัติ โดยหวังว่าอาวุธเหล่านี้จะทำให้ได้เปรียบในการต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียในภูมิภาคยูเครนตะวันออก
ทั้งนี้ ทางฝั่งยูเครนยังไม่ได้ออกมายืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลยูเครนได้กล่าวต่อสาธารณชนว่า ต้องการอาวุธประเภทคลัสเตอร์บอมบ์จากสหรัฐฯ
ไม่ชัดเจนนักว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ มีอาวุธดังกล่าวเหล่านี้อยู่ในคลังแสงเป็นจำนวนเท่าไร แต่บริษัท Textron Systems Corporation ได้หยุดผลิตระเบิด MK-20 ไปตั้งแต่ปี 2016 หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการขายให้กับซาอุดีอาระเบีย แต่แหล่งข่าวในสภาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีมากกว่า 1 ล้านลูกในคลังแสงของกองทัพสหรัฐฯ
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มอบความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนจำนวนมาก รวมถึงอาวุธหลายอย่างที่ในทีแรกเหมือนจะไม่ให้ แต่สุดท้ายก็ส่งมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยิงขีปนาวุธ HIMARS ระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออต (Patriot) และรถถังเอบรามส์ (Abrams)
แต่คาดว่าอาวุธต้องห้ามอย่างคลัสเตอร์บอมบ์นี้อาจเป็นคำขอที่ “มากเกินไป” พอสมควรสำหรับสหรัฐฯ
สนธิสัญญาปี 2008 ที่ลงนามโดย 123 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรนาโต (NATO) กำหนดห้ามการผลิต การใช้ และการกักตุนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความอันตรายต่อชีวิตของพลเรือน ซึ่งคลัสเตอร์บอมบ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน ไม่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวนี้
ทอม มาลินอฟสกี อดีตสมาชิกสภาคองเกรส กล่าว่า “การให้อาวุธต้องห้ามแก่ยูเครนจะเป็นการบั่นทอนอำนาจทางศีลธรรมของพวกเขาในแบบที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน สามรถนำไปใช้ประโยชน์ได้”
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเสียงสนับสนุนบางส่วนในสภาคองเกรสเช่นกัน โดยมีรายงานว่าสมาชิกสภาจากพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ค่อนข้างคล้อยตามต่อคำขอของยูเครน
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก Reuters