นักธรณีวิทยารายงานพบสัญญาณเตือนว่า มนุษย์กำลังมีอิทธิพลต่อวัฏจักรทางธรณีวิทยาของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังมีการค้นพบหินประหลาดที่มีลักษณะเป็น “ครึ่งหินครึ่งพลาสติก” บนเกาะทรินดาด (Trindade) เกาะภูเขาไฟแห่งหนึ่งของบราซิลซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์เต่าทะเล
เฟร์นันดา อเวลาร์ ซานโตส นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยปารานา กล่าวว่า การค้นพบหินที่เกิดจากเศษพลาสติกนี้เป็นสัญญาณเตือนที่น่ากลัว “นี่เป็นเรื่องใหม่และน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน เพราะมลพิษได้มาถึงศาสตร์ของธรณีวิทยาแล้ว”
เธอบอกว่า ครึ่งหินครึ่งพลาสติกที่เรียกว่า “พลาสติโกลเมอเรต” (Plastiglomerate) นี้ เกิดจากพลาสติกที่หลอมละลายรวมเข้ากับหินบนเกาะ โดยมีลักษณะเป็นส่วนผสมของตะกอนและเศษอื่น ๆ ที่จับตัวกันด้วยพลาสติก
ซานโตสและทีมของเธอได้ทำการทดสอบทางเคมี เพื่อค้นหาว่าพลาสติกที่อยู่ในหินเป็นชนิดใด
“เราพบว่า พลาสติกส่วนใหญ่มาจากอวนจับปลา ซึ่งเป็นเศษขยะทั่วไปบนชายหาดของเกาะทรินดาด ... อวนมักถูกกระแสน้ำลากมาเกยตื้นบนชายหาด เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พลาสติกบนอวนก็จะละลาย และฝังตัวอยู่กับวัสดุธรรมชาติบนชายหาด”
เธอบอกว่า “มลพิษ ขยะในทะเล และพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้องในมหาสมุทรกำลังกลายเป็นวัสดุทางธรณีวิทยา”
เกาะทรินดาดเป็นจุดอนุรักษ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกสำหรับเต่าเขียวหรือ Chelonia mydas โดยมีเต่าหลายพันตัวเดินทางมาวางไข่ทุกปี มนุษย์เพียงกลุ่มเดียวที่อาศัยอยู่บนเกาะคือสมาชิกของกองทัพเรือบราซิล ซึ่งดูแลฐานบนเกาะและคอยปกป้องคุ้มครองเต่าที่มาวางไข่
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก Reuters