คุกแตก-แล็บถูกยึด ซูดานวุ่นวายเกินควบคุมได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์การสู้รบในซูดาน ล่าสุดเป็นอีกครั้งที่ข้อตกลงหยุดยิงนาน 72 ชั่วโมงถูกละเมิด การโจมตียังคงเกิดขึ้นหลายจุดในซูดาน

รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ จนถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 12 แล้วที่กองทัพซูดานและกองกำลัง RSF เปิดฉากสู้รบกันในหลายเมืองของซูดาน แต่ก็ยังไม่มีท่าทีหรือความพยายามจากทั้งสองฝ่ายที่จะนั่งโต๊ะเจรจาตามที่นานาชาติคาดหวัง

รายงานจาก โวลเกอร์ เพิร์ธ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำซูดานระหว่างการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ทหารทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่าตนจะเป็นฝ่ายชนะในการสู้รบครั้งนี้

"ทหารแย่งชิงอำนาจ" ที่มาของการสู้รบรอบใหม่ในซูดาน

"ซูดาน" หยุดยิงครั้งใหม่ 72 ชั่วโมง นานาชาติเร่งอพยพคน

ส่วนข้อตกลงหยุดยิงล่าสุดซึ่งถือเป็นครั้งที่ 5 แล้วยังคงถูกละเมิด การสู้รบยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เคียงคู่ไปกับการเคลื่อนกองกำลังเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างยึดครองได้  สถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ กำลังทำให้ซูดานจมดิ่งลงสู่หายนะ นี่คือความคิดเห็นล่าสุดต่อสถานการณ์จากผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำซูดาน

บรรยากาศในกรุงคาร์ทูม ภาพของควันดำจากเพลิงไหม้ที่เป็นผลของการสู้รบยังคงปรากฏในหลายจุดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบเพิ่มเป็นอย่างน้อย 459 ราย ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเป็นอย่างน้อย 4,000 ราย น้ำประปาและไฟฟ้าถูกตัดขาดในหลายจุด และขณะนี้ชาวซูดานราว 1 ใน 3 จากประชากรทั้งหมด 46 ล้านคนกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร

ภาพความเสียหายในหลายจุดที่ชาวซูดานบันทึกไว้บ่งชี้ว่า การสู้รบกำลังขยายขอบเขตกว้างขึ้นเรื่อยๆ มายังบ้านเรือนของประชาชน โรงพยาบาล และสถานบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ จากภาพคือ ศูนย์การแพทย์อัล-รูมี ที่ตั้งอยู่ในเมืองออมเดอร์มาน เมืองที่มีความหนาแน่นมากที่สุดอันดับสองรองจากกรุงคาร์ทูม และขณะนี้กำลังกลายเป็นสนามรบไม่ต่างจากเมืองหลวง จากภาพจะเห็นเลือดกองใหญ่ที่พื้น รายงานข่าวท้องถิ่นระบุว่า นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังมีจรวดยิงตกใส่โถงทางเดินของศูนย์การแพทย์ ส่งผลให้เกิดระเบิดขึ้น

หนึ่งสัปดาห์แล้วที่ทหารจากทั้งสองกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดของซูดานห้ำหั่นกันด้วยอาวุธหนัก ชาวซูดานหลายพันคนอพยพหนีออกจากเมือง แต่บางส่วนยังคงอยู่  มีเสียงจาก บันดาร์ โดเวลบาอิท ชาวซูดานในกรุงคาร์ทูมให้สัมภาษณ์ผ่านระบบออนไลน์เล่าว่า สถานการณ์ตอนนี้ย่ำแย่มาก หากชาวเมืองไม่ถูกลูกหลงจากอาวุธก็อาจจะเสียชีวิตเพราะขาดแคลนอาหารและน้ำ  พร้อมเล่าบรรยากาศของเมืองหลวงว่าขณะนี้ไม่ต่างจากเมืองร้าง ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าออกมาจากบ้านวานนี้ 25 เม.ย.เป็นวันที่หลายชาติเสร็จสิ้นการอพยพพลเมืองของตน เช่น เยอรมนี

ขณะเดียวกันก็เป็นวันที่บางประเทศเพิ่งจะเริ่มต้นอพยพ เช่น ตุรกี จากภาพคือ บรรยากาศของสนามบินในนครอิสตันบูล ชาวตุรกีจำนวนราว 100 คนนี้เพิ่งจะเดินทางมาถึงบ้านเกิด หลังติดอยู่ท่ามกลางการสู้รบในซูดานมานานกว่า 1 สัปดาห์

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ในซูดานน่ากลัวมาก หากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ไม่มีทางที่จะหนีออกมาได้

เมื่อวานนี้ในชั่วโมงของการหยุดยิง หลายชาติใช้โอกาสนี้ในการอพยพ ส่วนใหญ่เลือกอพยพผ่านทางอากาศกลับไปประเทศต้นทาง หรือส่งไปยังฐานทัพอากาศในจิบูตีที่เป็นที่ตั้งของหลายชาติตะวันตก

แต่หลายชาติเองก็เลือกวิธีที่เร็วกว่าอย่างการอพยพทางบกข้ามชายแดนซูดานเข้าไปในอียิปต์ เช่น รายงานจากรัฐบาลยูเครน พวกเขาได้อพยพพลเมือง 138 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวยูเครน 87 คน ทั้งหมดเข้าไปในอียิปต์ได้อย่างปลอดภัย

อีกชาติคือ แอฟริกาใต้ ประกาศเมื่อวานนี้เช่นกันว่า พลเมืองของตนเดินทางถึงอียิปต์เรียบร้อย

ในกระบวนการอพยพของชาวต่างชาติ บางเที่ยวบินและเรือโดยสารมีชาวซูดานรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ในภาพรวมแล้วส่วนใหญ่ของคนซูดานต้องอพยพหนีตายออกจากเมืองที่เกิดการสู้รบกันเอง  หนึ่งในปลายทางที่ขณะนี้รองรับชาวซูดานจำนวนมากคือ ประเทศชาด ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของซูดาน และมีพรมแดนติดกับซูแดนยาวถึง 1,400 กิโลเมตร

 ที่นี่คือบรรยากาศของค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองอาเดอร์ที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจัดตั้งขึ้น  ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า นับตั้งแต่การสู้รบในซูดานปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ชาดรองรับผู้ลี้ภัยชาวซูดานมากถึง 20,000 คนแล้ว   ผู้ลี้ภัยเล่าว่า พวกเขามาแต่ตัวและหวังมาตายเอาดาบหน้า

การสู้รบที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนและกระทบต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หากยังสร้างความกังวลใหม่ว่า ความขัดแย้งระหว่างทหารครั้งนี้อาจเป็นชนวนเหตุของการระบาดใหม่ เนื่องจากขณะนี้ห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งที่เก็บตัวอย่างเชื้อโรคไว้มากมายถูกยึดโดยทหารฝ่ายหนึ่งแล้ว

จากภาพคือห้องปฏิบัติการของ หน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติซูดานที่ตั้งอยู่ในกรุงคาร์ทูม รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกออการะบุว่า ห้องปฏิบัติการนี้ถูกยึดโดยทหารไม่ทราบฝ่าย ซึ่งได้ขับไล่เจ้าหน้าที่ออกจากอาคารจนหมด ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า เชื้อโรคที่ถูกเก็บอยุ่ภายในเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยจะรั่วไหลออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในเวลานี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลกระบวนการจัดเก็บ

นอกจากนั้นการที่ระบบไฟฟ้าในหลายจุดของเมืองถูกตัดขาดยังจะทำให้ตัวอย่างที่เก็บไว้เน่าเสีย รวมถึงเลือดในธนาคารเลือดจำนวนหนึ่งที่ถูกเก็บอยู่ในห้องปฏิบัติการนี้ด้วยเช่นกัน  รายงานจากด็อกซ์เตอร์ นิมา ซาอีด ผู้แทนขององค์การอนามัยโลกในซูดาน สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังจะนำไปสู่สถานการณ์ที่อันตรายเกินควบคุมได้

ด้านสำนักข่าวบีบีซียังรายงานด้วยว่า การสู้รบได้ส่งผลกระทบต่อเรือนจำโคเบอร์ที่ตั้งอยู่ในกรุงคาร์ทูม

ภายในเรือนจำแห่งนี้เป็นที่กักขังนักโทษการเมืองคนสำคัญของซูดาน บุคคลสำคัญที่สุดคือ โอมาร์ อัล-บาเชียร์ อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการของซูดาน ผู้ปกครองประเทศมานาน 30 ปี ก่อนจะถูกโค่นลงจากอำนาจในการประท้วงใหญ่ปี 2019

รายงานข่าวคาดกันว่า อัล-บาเชียร์อาจหลบหนีออกจากเรือนจำไปพร้อมกับนักโทษอีกหลายพันคน หลังเรือนจำแตกเพราะการสู้รบรอบๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บนโลกออนไลน์ มีบัญชีทวิตเตอร์รายหนึ่งเผยแพร่ภาพที่อ้างว่า บันทึกไว้ในช่วงวันอาทิตย์ จากภาพจะเห็นนักโทษทยอยกันขนข้าวของส่วนตัวเดินออกมาจากเรือนจำ ด้านรายงานจาก สำนักข่าว Sudan Post ระบุว่า ทหารเป็นฝ่ายกดดันให้ผู้คุมปล่อยตัวนักโทษออกมาเอง

เหล่านี้คือสถานการณ์ล่าสุดจากซูดานที่การสู้รบกำลังสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปิดท้ายด้วยประเด็นทหารวากเนอร์ในซูดานที่ระหว่างการประชุมของสหประชาชาติเมื่อวานนี้ มีเสียงจากเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในซูดานว่า ซูดานสามารถใช้บริการทหารแวกเนอร์ของรัสเซียได้ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในประเทศ

คำกล่าวนี้ยิ่งสร้างข้อกังขาต่อบทบาทของทหารแวกเนอร์ในซูดานที่ผ่านมาเรามักได้ยินชื่อของกลุ่มนี้จากข่าวสงครามยูเครน เนื่องจากพวกเขาเป็นแนวหน้าในการสู้รบของฝ่ายรัสเซีย   แต่อันที่จริงก่อนรัสเซียจะรุกรานยูเครน รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกหลายเจ้าระบุว่า ทวีปแอฟริกาเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่แวกเนอร์กำลังปฏิบัติภารกิจ  เช่น สำนักข่าว CNN เคยรายงานกิจกรรมของกลุ่มแวกเนอร์ในซูดานเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ระบุว่า พบความผิดปกติของบริษัทเหมืองทองคำในซูดานที่ดำเนินการโดยบริษัทของกลุ่มแวกเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ทหารซูดานปล่อยให้กลุ่มแวกเนอร์เข้าถึงทองคำแลกกับคำปรึกษาและการสนับสนุนแก่กลุ่มทหาร เนื่องจากกองทัพกำลังเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ

ส่วนในประเด็นล่าสุด CNN และกลุ่ม All Eyes On Wagner กลุ่มที่มุ่งนำเสนอกิจกรรมของกลุ่มแวกเนอร์รัสเซียที่ขณะนี้กำลังดำเนินการในหลายประเทศ  พวกเขาระบุว่า พบเครื่องบินของกลุ่มแวกเนอร์บินกลับไปกลับมาระหว่างฐานทัพอากาศฮัฟตาในลิเบีย กับฐานทัพอากาศของรัสเซียในเมืองลาตาเกียของซีเรียในช่วงไม่กี่วันก่อนการสู้รบจะเกิดขึ้น รวมถึงกิจกรรมแบบนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่การสู้รบเกิดขึ้นในกรุงคาร์ทูมด้วยเช่นกัน

จุดสำคัญก็คือ ฐานทัพอากาศฮัฟตาในลิเบียเป็นพื้นที่ที่เป็นพันธมิตรกับกองกำลัง RSF สำนักข่าวCNN ชี้ว่า นี่คือเครื่องบ่งชี้ถึงสายสัมพันธ์และอิทธิพลที่รัสเซียมีต่อกองกำลัง RSF แต่ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มแวกเนอร์มีส่วนในความขัดแย้งระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลัง RSF ล่าสุดหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดๆ

ด้านสำนักข่าว Radio Free Europe ฉายภาพใหญ่ให้เห็นว่าปัจจุบันรัสเซียขยายอิทธิพลในทวีปแอฟริกาผ่านกลุ่มแวกเนอร์มากขนาดไหน

กองกำลังเหล่านี้ถูกระบว่า เข้าไปช่วยประเทศต่างๆ ในแอฟริกาจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย แต่จากการตรวจสอบพบความผิดปกติ เช่น ในซูดานกลุ่มแวกเนอร์เชื่อมโยงกับเหมืองทองคำ ส่งผลให้หวั่นเกรงกันว่า ทองคำซูดานกลายมาเป็นทุนสนับสนุนให้รัสเซียก่อสงครามในยูเครน

ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมามีรายงานกล่าวหาว่า กลุ่มแวกเนอร์มีส่วนในการก่อความไม่สงบในแอฟริกากลาง หรือติดตั้งกับระเบิดในลิเบีย เป็นต้น

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ