ผู้นำจีน ส่งสัญญาณผนวกไต้หวันผ่านสุนทรพจน์

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นอกจากผู้นำยูเครนและผู้นำรัสเซีย ผู้นำโลกอีกคนหนึ่งที่ออกมาส่งสัญญาณว่าปี 2024 อาจไม่ใช่ปีแห่งสันติสุขคือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพราะในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่กับประชาชนเมื่อคืนที่ผ่านมา

ผู้นำจีนได้ประกาศจุดยืนต่อกรณีไต้หวันว่า ดินแดนดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของจีน และการรวมไต้หวันเข้าไปส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ส่งผลให้ผู้นำไต้หวันออกมาโต้ทันที ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน ต้องยึดเจตจำนงของประชาชนบนเกาะไต้หวันเป็นหลัก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยหนึ่งในประเด็นที่ผู้นำจีนหยิบยกมาพูดคือ เรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากที่จีนกำลังพยายามฟื้นตัวจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด 

นัดเดียวจอด! จีนวิจัยอาวุธพลังงานจลน์ พบทำลายรถถังสหรัฐฯ ได้ในนัดเดียว

“เซเลนสกี” ส่งข้อความปีใหม่ รัสเซียจะได้เห็นความเกรี้ยวกราดของยูเครน

จีน พีพีทีวี/รอบโลก DAILY
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ประธานาธิบดีสีระบุว่า ถึงแม้ตัวเลขของตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจหลายตัวยังเผชิญกับความท้าทาย เช่น ตัวเลขการจ้างงานที่ยังต่ำ แต่โดยรวมถือได้ว่าเศรษฐกิจของจีนรอดพ้นจากพายุหรือวิกฤตแล้ว

 ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและมีชีวิตชีวามากกว่าเดิมด้วยภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำลังให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคพลังงานใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรีลิเทียม และพลังงานแสงอาทิตย์

 นอกจากเศรษฐกิจแล้ว อีกประเด็นที่ประธานาธิบดีสีให้ความสำคัญในสุนทรพจน์ปีใหม่ปีนี้ คือ ประเด็นไต้หวัน

ผู้นำจีนประกาศชัดเจนว่า การรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 ผู้สังเกตการณ์การเมืองจีนหลายคนระบุว่า ท่าทีและน้ำเสียงของประธานาธิบดีสีต่อประเด็นไต้หวันมีความแข็งกร้าวกว่าปีที่ผ่านๆ มา

ปี 2023 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ถือเป็นปีที่ผู้นำจีนออกมาแสดงท่าทีและจุดยืนต่อเรื่องไต้หวันบ่อยและแข็งกร้าวมากที่สุดในรอบหลายปี โดยก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ปีใหม่ ประธานาธิบดีสีเพิ่งส่งสัญญาณประเด็นรวมไต้หวันไป

ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ต่อคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 130 ปีของ เหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

 เหมา เจ๋อตง คือ ผู้ที่เอาชนะรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่นำโดยเจียง ไคเช็ก ในสงครามกลางเมืองได้ ทำให้เจียง ไคเช็ก ต้องหนีไปตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวันในปี 1949

 ประธานาธิบดีสีประกาศว่า การรวมแผ่นดินมาตุภูมิโดยสมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจต้านทานได้ โดยการรวมมาตุภูมิเป็นความปรารถนาของประชาชน และจีนจะทำทุกทางเพื่อป้องกันใครก็ตามที่คิดแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีน หลังผู้นำจีนกล่าวเกี่ยวกับประเด็นการรวมไต้หวันออกมา

ด้านไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้ออกมาตอบโต้ทันที โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีน จะถูกตัดสินโดยเจตจำนงของประชาชนบนเกาะไต้หวันเท่านั้น และสันติภาพจะต้องอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

การโต้คารมระหว่างผู้นำจีนและไต้หวัน เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน ในวันที่ 13 มกราคมนี้

ท่ามกลางท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีน การเลือกตั้งในไต้หวันครั้งนี้ จะกลายเป็นการเลือกตั้งที่โลกจับตามองมากที่สุด หลังจากพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัคร รวมถึงแคนดิเดตประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ล้วนหยิบยกเรื่องความสัมพันธ์กับจีนมาเป็นประเด็นในการหาเสียง

อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งคราวนี้จะไม่มีชื่อของ ‘ไช่ อิงเหวิน’ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งสังกัดพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือ DPP เนื่องจากเธออยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 2 วาระแล้ว

ที่ผ่านมา ไช่ อิงเหวิน มีท่าทีแข็งกร้าวต่อนโยบายการรวมชาติของจีนมาโดยตลอด นับตั้งแต่เธอชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

ตลอดเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา จีนได้ใช้แรงกดดันทางการทูตเพื่อโดดเดี่ยวไต้หวัน จนทำให้ตอนนี้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน เหลือเพียง 14 ประเทศ ลดลงมาจาก 22 ประเทศ

แม้ว่า ไช่ อิงเหวิน กำลังจะลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีแต่แคนดิเดตจากพรรค DPP อย่าง วิลเลียม ไล่ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่จะมารับไม้ต่อจากเธอ ก็มีจุดยืนที่ไม่ต่างกัน

จุดยืนของวิลเลียม ไล่ คือ การรักษา Status Quo หรือการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ในขณะนี้ระหว่างไต้หวันและจีนเอาไว้ พร้อมกับเปิดโอกาสสำหรับการพูดคุยระหว่างทั้งสองดินแดน

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่า การวางนโยบายเช่นนี้ ถือเป็นการประกาศจุดยืนกลายๆ ว่า คัดค้านการรวมชาติตามนโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

นอกจากวิลเลียม ไล่ ยังมีผู้สมัครอีก 2 คนจากสองพรรคการเมืองใหญ่บนเกาะไต้หวันที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

 คนแรกคือ โฮ หยู-ยี นักการเมืองชาวไต้หวัน อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันของนครนิวไทเป ผู้แทนของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT)

โฮ หยู-ยี ได้ชูนโยบายเชื่อมความสัมพันธ์จีนกับไต้หวันให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพราะเชื่อว่าฐานคิดนี้จะไม่นำไปสู่สงครามระหว่างจีนและไต้หวัน

การสานความสัมพันธ์กับจีน ถือเป็นหนึ่งในฐานคิดของนโยบายต่างประเทศที่พรรคก๊กมินตั๋งมีต่อจีน สังเกตได้จากคำพูดของหม่า อิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2008-2016 ที่เคยโจมตีพรรค DPP ของวิลเลียม ไล่ ว่า การเลือกพรรค DPP คือ การส่งเยาวชนไปในสนามรบ แต่ถ้าเลือกก๊กมินตั๋งจะไม่มีสงครามทั้งบนเกาะไต้หวันและบนแผ่นดินจีน

 ส่วนอีกคนที่จะมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ เคอ เหวินเจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป จากพรรคประชาชนไต้หวัน หรือ TPP

สำหรับวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศที่พรรคของเขามีต่อจีน คือ จีนกับไต้หวันสามารถเจรจากันได้บนหลักสำคัญเพียงข้อเดียว คือ ไต้หวันต้องรักษาระบบการเมืองและวิถีชีวิตที่เป็นเสรีประชาธิปไตยในปัจจุบันเอาไว้เช่นเดิม

 นอกจากนี้ เขายังย้ำว่า ผู้คนทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันมีเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่เหมือนกันก็จริง

แต่จีนกับไต้หวันในปัจจุบัน มีระบบการเมืองและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปแล้ว และไต้หวันต้องการการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนทั้งสองดินแดนของช่องแคบไต้หวันล้วนต้องการสันติภาพเช่นเดียวกัน

 สำหรับกระแสการเลือกตั้ง ผลสำรวจและคาดการณ์ของสำนักข่าวดิ อีโคโนมิสต์ ชี้ว่า ประธานาธิบดีคนต่อไปของไต้หวันอาจเป็น วิลเลียม ไล่ จากพรรค DPP

โดยดิ อีโคโนมิสต์ ประเมินว่า วิลเลียม ไล่ จากพรรค DPP อาจได้ที่นั่งน้อยสุด 28 ที่นั่ง สูงสุด 40 ที่นั่ง และเฉลี่ยอยู่ที่ 34 ที่นั่ง

ขณะที่โฮ หยู-ยี จากพรรค KMT อาจได้ที่นั่งน้อยสุด 26 ที่นั่ง สูงสุด 36 ที่นั่ง และเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ที่นั่ง ส่วน เคอ เหวินเจ๋อ จากพรรค TPP อาจได้ที่นั่งน้อยสุด 17 ที่นั่ง สูงสุด 26 ที่นั่ง และเฉลี่ยอยู่ที่ 21 ที่นั่ง

Bottom-Interactive Bottom-Interactive

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ