กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) ขององค์การอวกาศนาซา เปิดเผยภาพถ่ายใหม่สุดสวยงามของ “เนบิวลา N79” ซึ่งนอกจากสีสันฉูดฉาดละลานตาแล้ว ยังมีรายละเอียดที่ควรค่าแก่การศึกษาสำหรับนักดาราศาสตร์ด้วย
N79 เป็นเนบิวลาขนาดใหญ่ที่มีความยาวประมาณ 1,630 ปีแสง อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ยังแทบไม่ได้รับการสำรวจในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (LMC) กาแล็กซีบริวารซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปกว่า 163,000 ปีแสง
“ฝุ่นรูปหางแมว” ปริศนาของระบบดาวเคราะห์ “เบตา พิกทอริส”
ยานสำรวจนาซาเตรียมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในประวัติศาสตร์
เห็นวงแหวนชัดกว่าเดิม! “เจมส์ เว็บบ์” เปิดภาพใหม่ “ดาวยูเรนัส”
N79 เป็นเหมือนพี่น้องกับเนบิวลาทารันทูลา (Tarantula Nebula) ที่ เจมส์ เว็บบ์ เคยถ่ายไว้ กระนั้น แม้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ในช่วง 500,000 ปีที่ผ่านมา N79 เป็นแหล่งก่อเกิดดาวฤกษ์ได้มากกว่าเนบิวลาทารันทูราถึง 2 เท่า จนจะเรียกว่าเป็นโรงงานผลิตดวงดาวก็ว่าได้
การศึกษาบริเวณที่มีดาวฤกษ์ก่อตัวเป็นจำนวนมาก N79 ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของเมฆก๊าซและฝุ่นในกระบวนการกำเนิดของดาวฤกษ์ในจักรวาลยุคแรก ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์มากที่สุด
ภาพใหม่จาก เจมส์ เว็บบ์ นี้ มีจุดที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งคือ “แฉกแสง” ที่ล้อมรอบแกนกลางอันสดใสของ N79 ความสวยงามนี้เกิดจากกระจกหลักของ เจมส์ เว็บบ์ ที่มีการจัดเรียงอยู่ในรูปแบบหกเหลี่ยมเหมือนรวงผึ้ง ส่งผลให้เมื่อถ่ายภาพ จะเกิดการรวมแสงและเลี้ยวเบนต่าง ๆ จนออกมาเป็นแฉก ๆ ดังภาพ
เจมส์ เว็บบ์ ยังสามารถมองเห็นดาวฤกษ์อายุน้อยที่เรียกว่า โปรโตสตาร์ หรือดาวฤกษ์แรกกำเนิด ภายในเมฆฝุ่นได้ โดยจะเป็นจุดสว่างที่สุดท่ามกลางเมฆก๊าซและฝุ่นสีส้มในภาพ
การสังเกตการณ์ N79 เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของกล้อง เจมส์ เว็บบ์ ในการศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวฤกษ์อายุน้อยต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะย้อนกลับมาหาคำตอบว่า ระบบสุริยะจักรวาลของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เรียบเรียงจาก NASA / Space.com
วิเคราะห์บอล! เอเชียน คัพ 2023 ซาอุฯ พบ ทีมชาติไทย 25 ม.ค.67
พยากรณ์อากาศล่วงหน้าช่วง 27 ม.ค.-2 ก.พ. ฝนฟ้าคะนอง อุณหภูมิสูงขึ้น