นักวิทย์พบดาวเคราะห์เหมาะดำรงชีวิตเพิ่ม ใกล้โลกสุดเท่าที่เคยพบ!

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นักวิทยาศาสตร์เผย พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหมาะดำรงชีวิตที่อยู่ใกล้โลกมากสุดเท่าที่เคยพบ ห่างจากโลก 40 ปีแสง (ใช้เวลาเดินทาง 2 แสนปี)

ทีมนักวิทยาศาสตร์ 2 ทีมรายงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ตามทฤษฎีแล้ว “เหมาะสำหรับการดำรงชีวิต” โดยมีขนาดเล็กกว่าโลกแต่ใหญ่กว่าดาวศุกร์ โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเล็ก อยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 40 ปีแสง ซึ่งถือว่าใกล้กว่าดาวเหมาะชีวิตดวงอื่นที่เคยพบ เช่น TOI-700e ที่อยู่ห่าง 100 ปีแสง หรือ TOI-715b ที่อยู่ห่าง 137 ปีแสง

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าวมีชื่อว่า “Gliese 12b” (กลีส 12 บี) อยู่ในกลุ่มดาวราศีมีน (Pisces)

คอนเทนต์แนะนำ
“ดาวสายไหม” ดาวเคราะห์พิสดาร ใหญ่กว่าดาวพฤหัส แต่เบากว่าเกือบ 10 เท่า
นักวิทย์รายงานพบดาวเคราะห์ประหลาด หลอมละลายตัวเองจากภายใน
เปิดภาพ “หัตถ์พระเจ้า” ในกลุ่มดาวท้ายเรือ ห่างจากโลก 1,300 ปีแสง

นักวิทย์พบดาวเคราะห์เหมาะดำรงชีวิตเพิ่ม ใกล้โลกสุดเท่าที่เคยพบ R. Hurt/JPL-Caltech/NASA
ภาพจำลองดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ Gliese 12b

ในการตรวจจับ Gliese 12b นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งรวบรวมโดยดาวเทียมภารกิจสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (TESS) ขององค์การนาซา

พวกเขาพบว่า Gliese 12b โคจรรอบดาวแคระแดง (Red Dwarf) ดวงหนึ่ง ซึ่งมีขนาดประมาณ 27% ของดวงอาทิตย์เราและมีอุณหภูมิเย็นกว่า ประมาณ 60% ของอุณหภูมิดวงอาทิตย์

เนื่องจากดาวฤกษ์ของมันมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก Gliese 12b จึงอยู่ในเขตเหมาะดำรงชีวิต (Habitable Zone) หรือตำแหน่งของดาวเคราะห์มีระยะห่างที่เหมาะสมที่สุดจากดาวฤกษ์

แต่ข้อเสียของ Gliese 12b คือ มันใช้เวลาโคจรรอบตัวเองนานถึง 12.8 วัน เท่ากับว่า 1 วันบนดาวดวงนี้จะเท่ากับ 12.8 วันบนโลกเลยทีเดียว

นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณอุณหภูมิพื้นผิวของดาวเคราะห์ Gliese 12b คร่าว ๆ และพบว่าอยู่ที่ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอุณหภูมิบนโลก

คุซูฮาระ มาซายูกิ จากศูนย์ชีวดาราศาสตร์โตเกียว และฟุกุอิ อากิฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า “เราพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยพบ และมีอุณหภูมิพอสมควร”

เมื่อระบุอุณหภูมิของดาว Gliese 12b ได้แล้ว ขั้นต่อไปนักวิทยาศาสตร์จะวิเคราะห์เพื่อระบุองค์ประกอบชั้นบรรยากาศ และที่สำคัญคือ ต้องหาว่า ดาวดวงนี้มีน้ำเพื่อการดำรงชีวิตหรือไม่

ด้าน ลาริสซา ปาเลธอร์ป นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระและมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ซึ่งเป็นกนึ่งในทีมวิจัยการศึกษาอีกฉบับหนึ่ง กล่าวว่า “มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพียงไม่กี่ดวงที่เราพบว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการดำรงชีวิต และนี่คือการค้นพบที่ใกล้ที่สุดและถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้คาดหวังมากนักว่าจะพบน้ำบนดาว Gliese 12b “ดาวดวงนี้คงไม่มีน้ำ แล้วเราก็รู้ว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกเกิดขึ้นแล้วบนดาวนี้ ทำให้มันเหมือนกับดาวศุกร์มากกว่าโลก”

ปาเลธอร์ปเสริมว่า “หรือต่อให้มันจะมีน้ำเหมือนกับโลกเรา … ก็อาจมีร่องรอยที่สามารถตรวจจับได้ซึ่งสามารถแสดงให้คุณเห็นว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ควบคุมไม่ได้กำลังดำเนินอยู่ และอาจทำให้สูญเสียน้ำได้”

ในขั้นตอนต่อไปของการวิเคราะห์บรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ และดำเนินการวิเคราะห์สเปกโทรสโกปี (Spectroscopy) หรือการจับแสงดาวที่ส่องผ่านชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบและดูว่าโมเลกุลธาตุบางชนิดดูดกลืนความยาวคลื่นใดของแสงไว้ ซึ่งจะสามารถนำไปหาองค์ประกอบชั้นบรรยากาศต่อได

ปาเลธอร์ปบอกว่า แม้ว่าดาวเคราะห์ Gliese 12b นี้อาจสามารถอยู่อาศัยได้สำหรับมนุษย์และค่อนข้างใกล้ระบบสุริยะของเราในแง่ระยะทางทางดาราศาสตร์ แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่ใครจะไปเยือนที่นั่นในเร็ววันนี้

เธอบอกว่า จากโลกจะใช้เวลาประมาณ 225,000 ปีกว่าจะไปถึง Gliese 12b ด้วยยานอวกาศที่เร็วที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

เรียบเรียงจาก CNN / NASA

แนะวิธีดำเนินการ ทำอย่างไร หากชื่อบัญชีโมบายแบงก์กิ้งไม่ตรงกับซิม?

เปิดโปรแกรมวอลเลย์บอลหญิงไทย ทำศึกเนชันส์ ลีก 2024 สัปดาห์ 2 มาเก๊า

เปิดปฏิทินวันหยุดเดือนมิถุนายน 2567 แนะวิธีลาให้ได้หยุดยาว 4 วัน

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ