ภูเขาน้ำแข็งใหญ่สุดในโลกหมุนวนอยู่กับที่กลางกระแสน้ำวน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นักวิทย์พบภูเขาน้ำแข็งใหญ่สุดในโลก “A23a” ซึ่งควรจะลอยไปตามกระแสน้ำแอนตาร์กติก กลับหมุนวนอยู่กับที่

“A23a” คือชื่อของภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ของกรุงเทพฯ ราว 2.5 เท่า มันเป็นภูเขาน้ำแข็งที่แตกออกมาจากแนวชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาในปี 1986 และเมื่อไม่นานมานี้ได้เคลื่อนที่ไปตามมหาสมุทร

แต่เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้หมุนวนอยู่ตรงจุดหนึ่งทางเหนือของทวีปแอนตาร์กติกา ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันควรจะล่องไปตามกระแสน้ำเย็นรอบขั้วโลกใต้ (ACC) หนึ่งในกระแสน้ำในมหาสมุทรที่แรงที่สุดของโลก

คอนเทนต์แนะนำ
นักวิทยาศาสตร์จีนถอดรหัสการระเบิด “ซูเปอร์โนวา”
แอนตาร์กติกาเจอคลื่นความร้อน ทำอุณหภูมิสูงกว่าปกติ 28 องศาเซลเซียส

ภูเขาน้ำแข็งใหญ่สุดในโลกหมุนวนอยู่กับที่กลางกระแสน้ำวน MODIS Land Rapid Response Team/NASA GSFC
A23a ภูเขาน้ำแข็งใหญ่สุดในโลก หมุนวนอยู่กับที่กลางกระแสน้ำวน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ก้อนภูเขาน้ำแข็ง A23a ถูกยึดไว้บนจุดที่เป็นเหมือนน้ำวน ขนาดใหญ่ที่ขวางอยู่กลางกระแสน้ำ นักสมุทรศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เสาเทย์เลอร์” (Taylor Column) และเป็นไปได้ว่า A23a อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะหลุดออกมาจากวังวนนี้ได้

ศาสตราจารย์มาร์ก แบรนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านขั้วโลก กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว เราจะคิดว่าภูเขาน้ำแข็งเป็นสิ่งที่อยู่เพียงชั่วคราว พวกมันแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและละลายไป แต่ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ไม่ใช่ ... A23a เป็นภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ยอมตาย”

อายุขัยของภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี โดยมันหลุดออกจากแนวชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อปี 1986 แต่หลังจากนั้นก็ติดอยู่ในโคลนใต้ทะเลเวดเดลล์เกือบจะในทันที เป็นเวลากว่า 30 ปีที่มันไม่ขยับเขยื้อน จนกระทั่งปี 2020 ภูเขาน้ำแข็งนี้เริ่มเคลื่อนตัวอีกครั้ง โดยเป็นไปอย่างช้า ๆ ในตอนแรก ก่อนจะพุ่งขึ้นทางเหนือเข้าหาอากาศและน้ำที่อุ่นขึ้น

ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ของปีนี้ A23a ได้เคลื่อนเข้าสู่กระแสน้ำ ACC และหลายคนคาดว่ามันจะล่องไปตามกระแสน้ำ อาจถึงขั้นลอยเข้ามาในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้

แต่ A23a กลับไม่ไปไหนเลย มันยังคงอยู่ที่เดิมทางเหนือของหมู่เกาะเซาท์ออร์กนีย์ โดยหมุนทวนเข็มนาฬิกาประมาณ 15 องศาต่อวัน และตราบใดที่มันยังคงหมุนอยู่เช่นนี้ จุดจบของมันก็จะล่าช้าออกไป

ที่ A23a ติดอยู่ไม่ได้เกิดจากการเกยตื้น เพราะมีน้ำอย่างน้อย 1 กิโลเมตรเมตรระหว่างด้านล่างของภูเขาน้ำแข็งกับพื้นทะเล กระแสน้ำถูกหยุดไว้กลางทางโดยกระแสน้ำวนประเภทหนึ่งที่นักฟิสิกส์ เซอร์ เจฟฟรีย์ อิงแกรม เทย์เลอร์ ได้รายงานไว้ครั้งแรกในช่วงปี 1920

ศาสตราจารย์เทย์เลอร์ได้แสดงให้เห็นว่า กระแสน้ำที่ไหลผ่านสิ่งกีดขวางบนพื้นทะเลสามารถแยกออกเป็นสองกระแสน้ำที่แยกจากกันภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม ทำให้เกิดมวลน้ำที่หมุนวนระหว่างทั้งสองกระแสน้ำ

ในกรณีนี้ สิ่งกีดขวางดังกล่าวคือ “พีรีแบงก์” (Pirie Bank) หรือเนินสูง 100 กิโลเมตรที่ก้นมหาสมุทร กระแสน้ำวนอยู่บนเนินสูงนี้ และขัง A23a ไว้ในน้ำวน

ศาสตราจารย์ไมค์ เมอริดิธ จากหน่วยงานสำรวจบริติชแอนตาร์กติก (British Antarctic Survey) กล่าวว่า “มหาสมุทรเต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ และลักษณะพลวัตนี้เป็นหนึ่งในลักษณะที่น่ารักที่สุดที่คุณเคยเห็น เสาเทย์เลอร์สามารถก่อตัวในอากาศได้เช่นกัน คุณจะเห็นได้จากการเคลื่อนที่ของเมฆเหนือภูเขา เสาเหล่านี้อาจมีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตรในถังทดลองในห้องแล็บ หรืออาจมีขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างในกรณีนี้ ซึ่งเสาเหล่านี้มีภูเขาน้ำแข็งยักษ์ตั้งอยู่ตรงกลาง”

คำถามสำคัญคือ A23a จะหมุนอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน?

คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ แต่ศาสตราจารย์เมอริดิธเคยวางทุ่นทดลองไว้ในเสาเทย์เลอร์เหนือเนินอีกแห่งทางตะวันออกของพีรีแบงก์ และพบว่า ทุ่นดังกล่าวยังคงหมุนอยู่ที่เดิมหลังเวลาผ่านไป 4 ปี

 

เรียบเรียงจาก BBC

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ