ตามกฎฟิสิกส์แล้ว ทุกวัตถุในจักรวาลล้วนมีแรงดึงดูดระหว่างกัน โดยยิ่งมีมวลมากเท่าไร แรงดึงดูดยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งรวมถึงแรงดึงดูดมหาศาลระหว่างกาแล็กซีด้วย และนั่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การชนกันของกาแล็กซี”
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ในอนาคตอีกประมาณ 4-5 พันล้านปีข้างหน้า กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ที่โลกของเราอยู่ จะชนเข้ากับกาแล็กซีเพื่อนบ้านอย่างแอนโดรเมดา (Andromeda) ที่อยู่ห่างออกไปราว 2.5 ล้านปีแสง และรวมกันเป็นกาแล็กซี “มิลโคเมดา” (Milkomeda)
นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน เวสโต สลิเฟอร์ เป็นผู้ค้นพบเส้นทางการชนกันที่เป็นไปได้ของทั้งสองกาแล็กซีในปี 1912 การศึกษาเพิ่มเติมทำนายว่า การชนกันของกาแล็กซีแอนโดรเมดากับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใน 5 พันล้านปีข้างหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้น ระบบสุริยะของเราจะถูกผลักไปที่แขนด้านนอกของกาแล็กซีที่เพิ่งรวมตัวกันใหม่
ไทม์ไลน์ผู้ป่วยสงสัย “ฝีดาษวานร clade 1” ย้ำไทยมีระบบป้องกันรัดกุม
"ภูมิธรรม" ยืนยัน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังเดินหน้าตามนั้น
ประวัติ “อุดม สิทธิวิรัชธรรม” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
แต่งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า โอกาสที่ทางช้างเผือกจะชนกับอันโดรเมดา อาจมีน้อยกว่าที่คิด
กาแล็กซีแอนโดรเมดา (M31) กำลังเข้าใกล้ทางช้างเผือกของเราด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อวินาที ด้วยเหตุนี้ นักดาราศาสตร์จึงทำนายมานานแล้วว่ากาแล็กซีทั้งสองจะโคจรเข้าหากันและรวมตัวกันเป็นกาแล็กซีใหม่
แต่ตามผลการคำนวณใหม่ในการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ก.ค. พบว่ากาแล็กซีทั้งสองอาจจจะแค่ “เฉียด ๆ กัน” เท่านั้น
ทีมวิจัยระบุว่า “เราพบว่า ความไม่แน่นอนในตำแหน่งปัจจุบัน การเคลื่อนที่ และมวลของกาแล็กซีทั้งหมดทำให้เกิดช่องว่างสำหรับผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก และมีความน่าจะเป็นเกือบ 50% ที่จะไม่มีการชนกันของกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีแอนโดรเมดาในช่วง 10,000 ล้านปีข้างหน้า”
นักวิจัยกล่าวว่า การศึกษาที่ผ่าน ๆ มาก่อนหน้านี้ไม่ได้คำนึงถึง “ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสน” ซึ่งก็คือผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของกาแล็กซีอื่นที่อยู่ใกล้เคียงในกลุ่มท้องถิ่น (Local Group) หรือบรรดากาแล็กซีที่เป็นเพื่อนบ้านกับทางช้างเผือก ซึ่งอาจผลักให้กาแล็กซีทั้งสองแยกจากกันได้โดยไม่ชนกัน
นักวิจัยใช้การสังเกตจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา (GAIA) และฮับเบิล (Hubble) เพื่อประเมินมวล การเคลื่อนที่ และปฏิสัมพันธ์ของแรงโน้มถ่วงของกาแล็กซี 4 แห่งในกลุ่มท้องถิ่น จากนั้นจึงป้อนข้อมูลเหล่านี้ลงในแบบจำลองที่สามารถจำลองสถานการณ์ที่เป็นไปได้หลายกรณี
เมื่อพิจารณาปฏิสัมพันธ์ของกาแล็กซี 4 แห่งที่ใหญ่ที่สุดภายในกลุ่มท้องถิ่น คือ กาแล็กซีทางช้างเผือก กาแล็กซีแอนโดรเมดา กาแล็กซีสามเหลี่ยม และกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ แล้ว นักวิจัยพบว่า โอกาสที่กาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีแอนโรอเมดาจะชนกันนั้นลดลงเหลือแค่ 50-50 และหากการชนจะเกิดขึ้นจริง จะต้องรออีกอย่างน้อย 8 พันล้านปี ไม่ใช่ 5 พันล้านปีอย่างที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้า
ทีมวิจัยระบุว่า “เราพบว่ากาแล็กซีในกลุ่มท้องถิ่นที่มีมวลมากที่สุดนอกจากทางช้างเผือกและอนโดรเมดา ได้แก่ สามเหลี่ยม และกลุ่มเมฆแมกเจลแลนใหญ่ ต่างมีผลกระทบต่อวงโคจรของทางช้างเผือก-แอนโดรเมดาอย่างชัดเจนและรุนแรง”
แม้จะเป็นเช่นนี้ นักวิจัยก็ยังสังเกตว่า การศึกษาของพวกเขายังห่างไกลจากข้อสรุปขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการเกิดมิลโคเมดา โดยนักวิทยาศาสตร์กำลังรอการเผยแพร่ข้อมูลใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาที่เพิ่งปรับเทียบใหม่เพื่อให้คำนวณได้ดีขึ้น
ทีมวิจัยบอกว่า “การเผยแพร่ข้อมูลใหม่ของไกอาในเร็ว ๆ นี้จะช่วยปรับปรุงข้อจำกัดของการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม และแบบจำลองมวลจะได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง”
พวกเขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าการ ศึกษาเรื่องวันสิ้นกาแล็กซียังอยู่แค่ในช่วงเริ่มต้น และจำเป็นต้องมีการทำงานที่สำคัญมากก่อนที่จะสามารถทำนายชะตากรรมของกลุ่มท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน แต่ ณ ขณะนี้ การประกาศถึงการล่มสลายของกาแล็กซีของเราในอนาคตดูเหมือนจะเกินจริงไปมาก”
กาแล็กซีทั้งหมดภายในกลุ่มท้องถิ่นจะชนกันและรวมเข้าด้วยกัน แต่กระบวนการนี้อาจใช้เวลานานกว่าอายุปัจจุบันของจักรวาลหลายเท่า
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม ที่นี่
เรียบเรียงจาก Live Science