กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) ขององค์การอวกาศนาซาปล่อยภาพใหม่อีกครั้ง คราวนี้เป็นภาพกาแล็กซี “เมสซิเออร์ 106” (Messier 106) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “NGC 4258” เป็นกาแล็กซีชนิดก้นหอยที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดและอยู่ห่างออกไปประมาณ 23 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ (Canes Venatici)
Messier 106 เป็นหนึ่งในกาแล็กซีชนิดก้นหอยที่สว่างที่สุดและอยู่ใกล้เราที่สุด โดยในปี 1981 และ 2014 ได้มีการตรวจพบซูเปอร์โนวา 2 แห่งในกาแล็กซีนี้
ที่ใจกลางของกาแล็กซีคือหลุมดำมวลยิ่งยวด เช่นเดียวกับกาแล็กซีชนิดก้นหอยส่วนใหญ่ แต่หลุมดำนี้ค่อนข้างมีการเคลื่อนไหวและกำลังดูดกลืนสสารต่าง ๆ อย่างแข็งขัน ซึ่งแตกต่างจากหลุมดำที่ใจกลางของทางช้างเผือกที่ดูดกลืนก๊าซแค่เป็นบางครั้ง
ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้องอินฟราเรดใกล้ (NIRCam) ของเว็บบ์ โดยการสังเกตนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมเฉพาะเพื่อศึกษา “นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์” (AGN) ของกาแล็กซี
AGN เป็นบริเวณใจกลางกาแล็กซีที่มีความส่องสว่างสูงกว่าค่าสเปกตรัมปกติจากฝุ่นและก๊าซที่ตกลงไปในหลุมดำ บริเวณสีน้ำเงินในภาพนี้สะท้อนถึงการกระจายตัวของดาวฤกษ์ทั่วบริเวณใจกลางกาแล็กซี บริเวณสีส้มแสดงถึงฝุ่นที่อุ่นกว่า และเฉดสีแดงแสดงถึงฝุ่นที่เย็นกว่า โทนสีน้ำเงินอมเขียว เขียว และเหลืองใกล้ใจกลางภาพแสดงถึงการกระจายตัวของก๊าซที่แตกต่างกันไปทั่วทั้งบริเวณ
กาแล็กซีนี้มีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง นั่นคือ มีแขนพิเศษ “ผิดปกติ” สองแขนที่มองเห็นได้ในคลื่นวิทยุและรังสีเอ็กซ์ ซึ่งแตกต่างจากแขนปกติ
แขนเหล่านี้ประกอบด้วยก๊าซร้อนแทนที่จะเป็นดาวฤกษ์จำนวนมาก นักดาราศาสตร์เชื่อว่า แขนพิเศษเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมของหลุมดำ ซึ่งเป็นผลสะท้อนกลับที่พบในกาแล็กซีอื่นด้วยเช่นกัน
สาเหตุน่าจะมาจากการไหลของวัตถุที่เกิดจากการหมุนวนอย่างรุนแรงของก๊าซรอบ ๆ หลุมดำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่คล้ายกับคลื่นที่ซัดขึ้นมาจากมหาสมุทรเมื่อกระทบกับหินใกล้ชายฝั่ง
เรียบเรียงจาก ESA
“โซดาไฟ” รู้จักพิษผิวไหม้-เสี่ยงตาบอดและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น