ในกลุ่มดาวสิงโตเล็ก (Leo Minor) มีหนึ่งในเป้าหมายการศึกษาของนักดาราศาสตร์นั่นคือ “Arp 107” ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมกาแล็กซีทรงรีแห่งหนึ่งและกาแล็กซีก้นหอยอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กัน อยู่ห่างจากโลก 465 ล้านปีแสง
ก่อนหน้านี้ เคยมีการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซา (NASA) ศึกษาบริเวณนี้เมื่อปี 2005 แต่ล่าสุดเราได้ภาพที่คมชัดขึ้นจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงพลังที่สุดอย่าง “เจมส์ เว็บบ์”
เว็บบ์แสดงภาพ Arp 107 ด้วยความละเอียดที่สูงกว่ามาก โดยใช้เครื่องมืออินฟราเรดระยะกลาง (MIRI) และกล้องอินฟราเรดระยะใกล้ (NIRCam) ซึ่งทำให้กาแล็กซีชนิดก้นหอยดูสดใสขึ้นด้วยสิ่งที่ดูเหมือน “ดวงตา” ที่สดใสสองข้างและ “รอยยิ้มกว้าง” รูปครึ่งวงกลม
รู้จัก "รัฐจ่าย" แอปพลิเคชันตรวจสอบสิทธิรับเงิน 10,000 บาท
ตรวจสอบสิทธิกลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ รับเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต
สงครามอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ เข้าสู่โหมด “ชำระแค้น”
NIRCam เน้นให้เห็นดาวฤกษ์ภายในกาแล็กซีทั้งสองและเผยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน เป็นสะพานสีขาวโปร่งแสง ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์และก๊าซที่ถูกแรงดึงดูดของอีกกาแล็กซีดึงออกมา
ข้อมูล MIRI ที่แสดงเป็นสีส้มแดง แสดงให้เห็นบริเวณที่เกิดดาวฤกษ์และฝุ่นที่ประกอบด้วยโมเลกุลอินทรีย์คล้ายเขม่าที่เรียกว่าโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน นอกจากนี้ MIRI ยังให้ภาพรวมของนิวเคลียสที่สว่างของเกลียวขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมดำมวลยวดยิ่ง
กาแล็กซีชนิดก้นหอยจัดอยู่ในประเภทกาแล็กซีเซย์เฟิร์ต (Seyfert) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กลุ่มกาแล็กซีที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด โดยกาแล็กซีเซย์เฟิร์ตมักจะไม่สว่างและอยู่ห่างไกลเท่าควอซาร์ ทำให้เป็นวิธีที่สะดวกกว่าในการศึกษาปรากฏการณ์ที่คล้ายกันในแสงที่มีพลังงานต่ำ เช่น อินฟราเรด
คู่กาแล็กซีนี้คล้ายกับกาแล็กซีกงเกวียน (Cartwheel) ซึ่งเป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่มีปฏิสัมพันธ์กับกาแล็กซีอื่น โดย Arp 107 อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับกาแล็กซีกงเกวียนมาก แต่เนื่องจากกาแล็กซีทรงรีที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้น่าจะชนกันนอกศูนย์กลางแทนที่จะชนโดยตรง กาแล็กซีชนิดก้นหอยจึงอาจถูกชนบริเวณส่วนที่เป็นแขนของก้นหอยเท่านั้น
การชนกันระหว่างกาแล็กซีสามารถบีบอัดก๊าซได้ ทำให้มีเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการก่อตัวของดวงดาวมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน การชนกันยังทำให้ก๊าซจำนวนมากกระจายออกไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ดาวฤกษ์เกิดใหม่สูญเสียสสารที่จำเป็นในการก่อตัวได้
เรียบเรียงจาก NASA