นายวลาดิมีร์ จาบารอฟ (Vladimir Dzhabarov) รองหัวหน้าคณะกรรมการกิจการระหว่างประเทศของสภาสหพันธรัฐ สภาสูงของรัสเซีย เตือนว่า การตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกา ในการอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่สหรัฐฯ จัดหามาให้ โจมตีในดินแดนของรัสเซียถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มากในการปูทางไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3และมอสโกจะดำเนินการตอบโต้ทันที
ท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัสเซียมีขึ้นหลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่ารัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ไฟเขียวให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สหรัฐฯ จัดหามาให้ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย ได้ ถือเป็นการพลิกนโยบายครั้งสำคัญของรัฐบาลวอชิงตันในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี และเป็นความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีไบเดน จะพ้นจากตำแหน่งในอีก 2 เดือนข้างหน้า
“ไบเดน” ไฟเขียวยูเครนใช้ขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯ ถล่มรัสเซีย!
อิสราเอลทำลายโรงงานอาวุธนิวเคลียร์ลับของอิหร่าน
"บันยาญ่า" เข้าวินสนามสุดท้าย "มาร์ติน" ผงาดคว้าแชมป์โลก โมโตจีพี 2024
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน เรียกร้องพันธมิตรให้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบกหรือ “อะทัคซิมส์" (ATACMS) ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กองทัพเคียฟสามารถโจมตีนอกพรมแดนได้
โดยหลังมีรายงานดังกล่าว ผู้นำยูเครน ออกมาระบุเพียงสั้น ๆ ว่า ขีปนาวุธจะแสดงให้เห็นด้วยตัวเอง
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เคยเตือนชาติตะวันตกเอาไว้ตั้งแต่เดือนกันยายนว่า ให้หลีกเลี่ยงความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยระบุว่า หากชาติตะวันตกอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบ โจมตีเป้าหมายในดินแดนของรัสเซีย จะเท่ากับเป็นการมีส่วนร่วมโดยตรงของชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตในสงครามยูเครน
สำหรับขีปนาวุธ "อะทัคซิมส์" ที่มีพิสัยไกลสูงถึง 300 กิโลเมตร จะถูกใช้งานสำหรับปฏิบัติการของกองทัพยูเครนในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียเป็นหลัก หลังยูเครนปิดฉากรุกรานและยึดดินแดนดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทำให้รัสเซียพยายามบุกยึดคืนกลับมาเพื่อไม่ให้สูญเสียอำนาจการต่อรองกับยูเครน
ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยตัวตน ให้ข้อมูลกับนิวยอร์กไทม์ส และวอชิงตันโพสต์ว่า การที่ไบเดนอนุมัติการใช้ขีปนาวุธดังกล่าวนั้น เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อการตัดสินใจของรัสเซียที่อนุญาตให้ทหารเกาหลีเหนือสู้รบในสงครามยูเครน
ก่อนหน้านี้ ยูเครนคาดการณ์ว่า มีทหารเกาหลีเหนือราว 11,000 นาย สู้รบอยู่ในภูมิภาคเคิร์สก์
ด้าน "เอียน เคลลี" อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำจอร์เจีย มองว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอาวุธของรัฐบาลไบเดนอาจส่งผลทำให้ยูเครน มีสถานะและอำนาจการต่อรองในการเจรจา ที่ดีขึ้น พร้อมเสริมว่า ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังรัสเซียว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนยูเครนต่อไป
"ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังรัสเซียว่าสหรัฐฯ จะไม่ถอนตัว หากเป็นวิธีที่ถูกต้องว่าเราจะยังคงสนับสนุนยูเครนต่อไป พรรครีพับลิกันที่คุมทั้งสองสภาของคองเกรส กลุ่มผู้นำของพรรครีพับลิกัน พูดมานานแล้วว่าเราควรยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้ ตอนนี้คุณมีฝ่ายบริหารของพรรคเดโมแครตทำสิ่งที่พรรครีพับลิกันเรียกร้อง ผมคิดว่ามันเป็นสัญญาณว่าเรากำลังจะสนับสนุนยูเครนต่อไป”
ทั้งนี้ การตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดน ยังส่งผลทำให้สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สามารถอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล “สตอร์ม ชาโดว์” (Storm Shadow) ในยูเครนได้เช่นกัน