สามีที่ผลักสาวจีนตกหน้าผาในไทยเรียกร้องเงินชดเชย 140 ล้านบาท

โดย PPTV Online

เผยแพร่

จากกรณีสามีผลักสาวจีนตกหน้าผาในไทยเมื่อปี 2019 จนเจ็บหนัก-แท้งลูก ล่าสุดฝ่ายสามีเรียกร้องเงินชดเชย 140 ล้านบาทจากฝ่ายภรรยา

เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงจำกันได้สำหรับคดีดังที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2019 สำหรับกรณีของ “หวัง หนาน” (ปัจจุบันอายุ 37 ปี) สาวจีนที่รอดชีวิตปาฏิหาริย์หลังจากถูกสามีผลักตกหน้าผาที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี จากความสูง 34 เมตร จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ในขณะนั้น นางหวังซึ่งกำลังตั้งครรภ์ กระดูกหัก 17 จุด ต้องเข้ารับการผ่าตัด ต้องตอกหมุดเหล็กมากกว่า 100 อัน และเย็บแผลกว่า 200 เข็ม รวมถึงเธอยังสูญเสียลูกในครรภ์ และแพทย์ระบุว่าเธออาจไม่สามารถตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้อีก

คอนเทนต์แนะนำ
นักท่องเที่ยวพลัดตกหน้าผาหัวนาคในชัยภูมิ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล
กลุ่มกบฏซีเรียเตรียมล้อมกรุงดามัสกัส หลังยึดเมืองได้ 4 แห่งรวด
เกาหลีใต้จับกุมอดีต รมว.กลาโหม หวั่นทำลายหลักฐานปมประกาศกฎอัยการศึก

สามีที่ผลักสาวจีนตกหน้าผาในไทยเรียกร้องเงินชดเชย 140 ล้านบาท FB/อุทยานแห่งชาติผาแต้ม Phataem National Park
หวัง หนาน หญิงชาวจีนที่ถูกสามีผลักตกหน้าผาเมื่อปี 2019

ขณะที่ตัวสามีผู้ก่อเหตุ หรือ “หยู เสี่ยวตง” (ปัจจุบันอายุ 38 ปี) นั้น ถูกจับกุม และถูกศาลไทยตัดสินจำคุก 33 ปี 4 เดือนหลังจากการพิจารณาคดีชั้นศาลฎีกาเมื่อเดือน มิ.ย. 2023

แต่ล่าสุดนอกจากคดีพยายามฆ่าแล้ว นางหวังและนายหยูยังต่อสู้กันในคดีเรียกร้องค่าชดเชย แต่ฝ่ายที่เรียกร้องคือฝ่ายสามี

โดยนายหยูเรียกร้องเงิน 30 ล้านหยวน (ราว 140 ล้านบาท) จากนางหวัง อ้างว่าเป็น “ค่าชดเชยความสูญเสียทางอารมณ์และความเยาว์วัย”

นางหวังได้เปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ว่า การแต่งงานของเธอกับสามียังคงมีผลถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเธอต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการหย่าร้าง เพราะกฎหมายการสมรสของจีนกำหนดว่า ในการฟ้องหย่าร้าง ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรากฏตัวในศาลด้วยตนเอง แต่ตอนนี้นายหยูถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทย

นางหวังเปิดเผยว่า นายหยูเรียกร้องเงินชดเชย 30 ล้านหยวนสำหรับสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็น “ความสูญเสียทางอารมณ์และความเยาว์วัย”

นางหวังกล่าวว่า “หยูและแม่ของเขาอ้างว่า เงินจำนวนดังกล่าวมีไว้เพื่อชดเชยความทุกข์ทางจิตใจของเขา แม่ของเขาถึงกับตำหนิฉันว่า ‘ถ้าธุรกิจของเธอไม่ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ลูกชายของฉันคงไม่ทำผิดพลาดแบบนี้หรอก’”

โดยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา นางหวังได้ให้กำเนิดลูกชายของเธอ ซึ่งตั้งครรภ์โดยการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (IVF) อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า การจดสูติบัตรลูกของเธอจะต้องระบุว่านายหยูเป็นพ่อ เนื่องจากพวกเขายังคงจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ด้าน จาง หย่งฉวน อดีตอัยการ กล่าวถึงคดีของนางหวังว่าเป็น “ทางตัน” และเป็น “สถานการณ์ที่แก้ไขไม่ได้”

จางอธิบายว่า “การพิจารณาคดีในศาลทุกครั้งจำเป็นต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องปรากฏตัวด้วยตัวเอง หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกคุมขัง อาจจำเป็นต้องมีทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจในท้องถิ่นไปที่เรือนจำเพื่อทำเอกสาร จากนั้นเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งไปยังศาลจีนผ่านช่องทางการทูต”

เขาเสริมว่า “อีกทางเลือกหนึ่งคือ ใช้การพิจารณาคดีทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน ตัวอย่างเช่น หากคดีหย่าร้างเกี่ยวข้องกับพลเมืองอเมริกันและชาวจีน การดำเนินการพิจารณาคดีทางออนไลน์บนแผ่นดินสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการทางตุลาการของจีนที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยทางตุลาการของสหรัฐฯ”

จางบอกว่า ผู้พิพากษาบางคนอาจไปเยี่ยมเรือนจำเพื่อทำการไต่สวน เนื่องจากเรือนจำหลายแห่งมีห้องพิจารณาคดีเตรียมพร้อมเอาไว้ “อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ไม่เหมาะสำหรับเรือนจำต่างประเทศเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายและปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของตุลาการ”

จางเน้นย้ำว่าการคุมขังได้รับการยอมรับว่าเป็นเหตุผลที่ถูกต้องสำหรับความไม่สามารถของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการปรากฏตัวในศาล ซึ่งบ่งชี้ว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การหย่าร้างของนนางหวังกับนายหยูจะเป็นไปไม่ได้หากฝ่ายสามีไม่สามารถมาที่ศาลได้

ปัญหาทางกฎหมายปัจจุบันที่นางหวังต้องเผชิญได้จุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโซเชียลมีเดียของจีน

ชาวเน็ตรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “การเรียกร้องค่าชดเชยหลังจากพยายามฆ่า? คนเรามันจะไร้ยางอายอะไรได้ขนาดนั้น?”

ชาวเน็ตอีกคนบอกว่า “กฎหมายต้องปฏิรูป! เหยื่อไม่ควรต้องทนทุกข์ทรมานจากช่องโหว่ทางกฎหมายอีกต่อไป หากคู่สมรสกระทำความผิดร้ายแรง เช่น พยายามฆ่า ศาลควรเร่งรัดการหย่าร้างโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายผู้กระทำความผิด”

 

เรียบเรียงจาก SCMP

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ