ทีมนักวิจัยจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนและมหาวิทยาลัยเบิร์นรายงานการค้นพบใหม่ว่า แผ่นดินไหวดาวอังคารส่งแรงสั่นสะเทือนลึกกว่าที่คาด โดยเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ตรวจสอบการพุ่งชนของสะเก็ดดาว หรืออุกกาบาตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดาวอังคารระหว่างเดือน ธ.ค. 2018 ถึงปี 2022 ในจุดที่ตั้งบริเวณยาน "อินไซต์ แลนเดอร์" ขององค์การนาซา
โดยก่อนหน้านี้ นักวิจัยเคยเชื่อว่าแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร หรือ "มาร์สเควก" (Marsquake) เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนที่เป็นเปลือกแข็งของดาวเคราะห์ดวงนี้เท่านั้น
แต่ คอสแตนติโนส ชาราลัมบูส นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนระบุว่า แรงสั่นสะเทือนสามารเดินทางได้รวดเร็วกว่าและลึกกว่าที่เคยเข้าใจ โดยพบการสั่นสะเทือนไปถึงชั้นใต้เปลือก และส่วนที่ลึกลงไปกว่านั้น
นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้รับยังพบว่าแผ่นดินไหวบนดาวอังคารจากการพุ่งชนของสะเก็ดเก็ดดาวเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่เคยประเมินไว้ถึง 2 เท่า
ขณะที่ขั้นตอนต่อไปของทีมนักวิจัยคือการทบทวนแบบจำลองต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบและโครงสร้างภายในของดาวอังคารเพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดสัญญาณของแรงสั่นสะเทือนจึงเดินทางไปได้ลึกถึงระดับที่ตรวจพบ
ชาราลัมบูสเชื่อว่า คลื่นแผ่นดินไหวเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด, การก่อตัว วิวัฒนาการ และสภาพปัจจุบันของดาวอังคาร และอาจรวมไปถึงพัฒนาการของดาวเคราะห์หิน หรือดาวเคราะห์ที่่มีลักษณะคล้ายโลก
สำหรับแผ่นดินไหวบนดาวอังคารตรวจพบเป็นครั้งแรกในเดือน เม.ย. 2019 โดยชาราลัมบูสระบุว่า แรงสั่นสะเทือนเกิดจากหหลายสาเหตุทั้งการเคลื่อนตัวของเปลือกดาวเคราะห์ พลังงานความร้อน และการพุ่งชนของอุกกาบาต