เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ชาติต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศ รวมถึง ฝรั่งเศส จีน และอินเดีย ได้เข้าร่วมการลงนามในปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่การประชุมสุดยอดในกรุงปารีส
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นสองประเทศที่ปฏิเสธการร่วมลงนามในปฏิญญาดังกล่าว โดยรัฐบาลอังกฤษชี้แจงว่า เห็นด้วยกับเนื้อหาส่วนใหญ่ในปฏิญญา แต่รู้สึกว่าประกาศนี้ไม่ให้ความชัดเจนเพียงพอในเรื่องธรรมาภิบาลโลก และไม่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงของชาติและความท้าทายที่เป็นผลมาจากเอไอ
นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังยืนยันด้วยว่า การตัดสินใจนี้ไม่เกี่ยวข้องกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ชาติ และการรักษาความสมดุลระหว่างโอกาสกับความมั่นคง
ขณะที่รองประธานาธิบดี เจ.ดี. แวนซ์ ในฐานะตัวแทนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการประชุมที่ปารีส กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กฎข้อบังคับที่มากเกินไปในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อาจทำลายอุตสาหกรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
รองประธานาธิบดีแวนซ์ยังกล่าวกับผู้นำโลกคนอื่น ๆ ด้วยว่า เอไอคือโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ยอมสูญเสียไป และนโยบายเอไอเพื่อการเติบโต ควรได้รับความสำคัญมากกว่าความปลอดภัย
ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น และให้ความเชื่อมั่นว่าข้อบังคับเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เอไอสามารถก้าวไปข้างหน้าได้
สำหรับปฏิญญาเอไอระหว่างประเทศมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ และรับประกันว่าการพัฒนาเทคโนโลยีนี้จะเป็นไปอย่าง “โปร่งใส” “ปลอดภัย” และ “น่าเชื่อถือ” โดยการทำให้เอไอยั่งยืนสำหรับผู้คนและโลก
ปฏิญญายังระบุด้วยว่า ประเด็นเรื่องการใช้พลังงานของเอไอที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นจนเท่าการใช้พลังงานของประเทศเล็ก ๆ บางประเทศภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมสุดยอดคราวนี้เป็นครั้งแรกด้วย