หลังจากมีข่าวว่า ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 อาจพุ่งชนโลกในปี 2032 หนึ่งในประเทศที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจคือ “จีน” ซึ่งออกมาเปิดรับสมัครบุคลากรเข้าร่วม “กองกำลังพิทักษ์โลก” (Planetary Defence Force)
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สำนักงานบริหารวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศของจีน (SASTIND) ได้ลงประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์บน WeChat ระบุว่า ต้องการบัณฑิตหนุ่มสาวที่ซื่อสัตย์และมุ่งมั่นในด้านวิศวกรรมอวกาศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการตรวจจับดาวเคราะห์น้อย
โฆษณาดังกล่าวระบุว่า มีตำแหน่งงาน 16 ตำแหน่งที่ SASTIND โดยมี 3 ตำแหน่งสำหรับ “กองกำลังพิทักษ์โลก” โดยเชิญชวนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีคุณสมบัติทางวิชาชีพและทางเทคนิค และมี “จุดยืนทางการเมืองที่มั่นคง” ที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับผู้นำ สี จิ้นผิง ให้สมัครเข้าร่วม
โฆษณาดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งกลุ่มประชากรดังกล่าวมีอัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2023
ชาวเน็ตรายหนึ่งคอมเมนต์ติดตลกว่า “โลกจะหวังพึ่งพวกคุณสามคน นั่นไม่กดดันเกินไปเหรอ”
ชาวเน็ตอีกคนบอกว่า “ถ้าคุณประสบความสำเร็จ คุณคือฮีโร่ที่ช่วยโลก แต่จะไม่มีใครโทษคุณหากล้มเหลว เพราะถึงตอนนั้นคงไม่เหลือ ‘ใคร’ อยู่แล้ว”
คำอธิบายเนื้องานที่แนบมากับโฆษณาดังกล่าวบ่งชี้ว่า กองกำลังจะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหลัก และการออกแบบระบบสำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ในการปกป้องโลกจากภัยคุกคามจากอวกาศ
งานของกองกำลังพิทักษ์โลกนั้นถูกอธิบายว่าเป็น “การวิจัยเกี่ยวกับการติดตามและเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก” และต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า จากสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีการสำรวจโลกและอวกาศ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ
แอนดรูว์ โจนส์ ผู้สื่อข่าวของ SpaceNews ซึ่งเชี่ยวชาญด้านภาคอวกาศของจีน กล่าวว่า ช่วงเวลาในการรับสมัครดูเหมือนจะตรงกับการค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จึงน่าจะเป็น “ส่วนเสริมของความพยายามที่มีอยู่แล้วของจีนในการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันดาวเคราะห์”
เขาบอกว่า “นี่รวมถึงระบบติดตามและเตือนภัย ทั้งบนพื้นดินและอาจอยู่ในอวกาศ และเตรียมการทดสอบมาตรการต่าง ๆ เช่น ยานพุ่งชนเพื่อเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่เป็นภัยคุกคาม” แบบที่นาซาทำกับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เมื่อปี 2022 ภายใต้โครงการ DART
เรียบเรียงจาก The Guardian