ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีแบบเต็มคณะเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันว่า ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี จะเดินทางถึงกรุงวอชิงตันในวันที่ 28 ก.พ. เพื่อลงนามในข้อตกลงสำคัญเกี่ยวกับแร่ธาตุหายากและประเด็นอื่น ๆ
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ยอมประนีประนอมในเงื่อนไขบางด้านเพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิง
สำหรับข้อตกลงแบ่งแร่ธาตุกับยูเครนเป็นข้อเสนอที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามผลักดันมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการชดเชยเงินช่วยเหลือหลายแสนล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ยูเครนตลอดระยะเวลา 3 ปีของการทำสงครามกับรัสเซีย
ขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีต้องการให้สหรัฐฯ รับรองเงื่อนไขที่เป็นหลักประกันว่ายูเครนจะได้รับการคุ้มครองจากการรุกรานของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันว่า สหรัฐฯจะไม่มอบหลักประกันด้านความมั่นคงใด ๆ ให้แก่ยูเครน เพราะหน้าที่นี้ควรเป็นความรับผิดชอบของยุโรป
ด้านประธานาธิบดีเซเลนสกีระบุในวันเดียวกันว่า ความสำเร็จของข้อตกลงลงการแบ่งปันทรัพยากรกับสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์ โดยผู้นำยูเครนต้องการให้เพิ่มประโยคที่ว่า สหรัฐฯ จะรับประกันความมั่นคงให้ยูเครน ลงไปในข้อตกลงด้วย
เช่นเดียวกับ เดนิส ชมีฮาล นายกรัฐมนตรียูเครน ที่กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเห็นชอบรายละเอียดข้อตกลงนี้ก่อนจะมีการลงนามเกิดขึ้น แต่ดีลดังกล่าวอยู่ในช่วงการหารือ “เบื้องต้น” เท่านั้น และหากไม่มีการรับประกันดังกล่าว รัฐบาลยูเครนจะไม่ลงนามข้อตกลงแร่ธาตุกับสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 27 ก.พ. จะมีการประชุมระหว่าง เจ้าหน้าที่การทูตของสหรัฐฯ และรัสเซีย ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเยือนภูมิภาคตะวันออกกลาง เปิดเผยว่า การหารือกันจะครอบคลุมประเด็นข้อพิพาทระดับทวิภาคีและการหารือในวงกว้างที่ทั้งสองประเทศมองว่าสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน
โดยลาฟรอฟย้ำว่า รัฐบาลรัสเซียไม่มีนโยบายพิจารณาแนวคิดที่จะเปิดทางให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครนเพื่อทำหน้าที่รักษาสันติภาพ และยืนยันว่ารัสเซียไม่เคยถูกสอบถามในเรื่องนี้ แม้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีปูตินได้ตอบรับแนวคิดการส่งทหารจากยุโรปเข้าประจำการในยูเครน
นอกจากนี้ ลาฟรอฟยังวิจารณ์สหภาพยุโรปว่าจงใจขัดขวางกระบวนการสันติภาพ หลังจากที่หลายชาติสมาชิกประกาศจะมอบความช่วยเหลือด้านการทหารรอบใหม่ให้แก่ยูเครน และสนับสนุนการต่อสู้กับรัสเซียต่อไป
ขณะที่ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำว่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศสามารถกลับมาพูดคุยเพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ แต่ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของแต่ละประเทศทำงานได้อย่างราบรื่น และวิกฤตยูเครนได้รับการแก้ไขแล้ว