บริษัท Colossal Biosciences บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อเสียงจากความพยายามในการคืนชีพให้กับช้างแมมมอธและสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่น ๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ได้ประกาศความสำเร็จในการสร้าง “หนูที่มียีนของแมมมอธ”
หนูดังกล่าวมีหนวดหยิก ขนหยิกเป็นลอนสีอ่อนคล้ายสีทอง ขนยาวกว่าหนูทดลองทั่วไปถึง 3 เท่า เรียกได้ว่า มีลักษณะหลายอย่างคล้ายแมมมอธที่สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน เพียงแต่มีขนาดจิ๋วกว่ามาก
บริษัท Colossal กล่าวว่า หนูพันธุ์ดัดแปลงนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างลำดับดีเอ็นเอเฉพาะและลักษณะทางกายภาพที่ทำให้แมมมอธสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศหนาวเย็นได้
ดร.เบธ ชาปิโร หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัท Colossal กล่าวเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ว่า “นี่เป็นก้าวสำคัญในการพิสูจน์แนวทางของเราในการฟื้นคืนคุณลักษณะที่สูญพันธุ์ไป”
บริษัท Colossal เปิดเผยว่า ได้ระบุยีนที่มีลักษณะแตกต่างกันในแมมมอธกับญาติที่ใกล้ชิดที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็คือช้างเอเชีย
จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทได้ระบุยีน 10 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความยาวขน ความหนา พื้นผิว สี และไขมันในร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับยีนที่มีลักษณะคล้ายกันในหนูทดลอง
ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ได้แก้ไขยีนที่เรียกว่า FGF5 ซึ่งกำหนดวงจรการเจริญเติบโตของขน ทำให้เกิดขนที่ยาวและรุงรัง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับเปลี่ยนการทำงานของยีน 3 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและโครงสร้างของรูขุมขนเพื่อสร้างพื้นผิวของขนที่เป็นขนสัตว์ ขนหยิก และหนวดที่หยิก
ยีนที่ถูกแก้ไขอื่น ๆ ได้แก่ MC1R ซึ่งควบคุมการผลิตเมลานิน เพื่อสร้างหนูที่มีขนสีทองแทนที่จะเป็นขนสีเข้มตามปกติ และยีนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
โดยรวมแล้ว ทีมงานได้ทำการแก้ไขยีนของหนู 7 ตัวพร้อมกันโดยใช้เทคนิคขั้นสูง 3 วิธี โดย Colossal ได้เผยแพร่เอกสารทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์หรือผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
เลิฟ ดาเลน ศาสตราจารย์ด้านจีโนมิกส์เชิงวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ที่ปรึกษาของ Colossal บอกว่า “ผมคิดว่าความสามารถในการแก้ไขยีนหลาย ๆ ตัวพร้อมกันในหนู แล้วได้ลักษณะขนปุยตามที่คาดไว้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก การที่ Colossal มีความรู้ในการแก้ไขยีนประเภทนี้ รวมถึงการแทรกยีนแมมมอธเข้าไปในสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ถือเป็นการพิสูจน์หลักการ”
อย่างไรก็ดี เอกสารงานวิจัยไม่ได้ระบุว่า หนูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมนั้นทนต่อความหนาวเย็นได้เหมือนแมมมอธหรือไม่ และยังไม่มีการทำความเข้าใจสรีรวิทยาและพฤติกรรมของพวกมัน ทำให้ไม่ชัดเจนว่า ในที่สุดแล้ว พวกมันจะสามารถให้ลักษณะคล้ายแมมมอธที่มีประโยชน์แก่ช้างได้หรือไม่
บริษัท Colossal มีแผนที่จะสร้างแมมมอธ โดโด และเสือแทสเมเนียนขึ้นมาใหม่ โดยการแก้ไขจีโนมของญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของแต่ละสายพันธุ์เพื่อสร้างสัตว์ลูกผสม แล้วปล่อยสัตว์เหล่านี้คืนสู่ธรรมชาติ
เรียบเรียงจาก CNN