เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ประกาศเลิกจ้างพนักงานเกือบ 50% หรือคิดเป็นจำนวนกว่าหลายพันคน ตามนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ยุบกระทรวงดังกล่าว จากเดิมที่มีพนักงานอยู่กว่า 4,100 คนในช่วงเริ่มต้นการบริหารของทรัมป์ ไม่นับพนักงานที่สมัครใจลาออก โดยการเลิกจ้างจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป
ลินดา แม็กแมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ กล่าวว่า "การลดจำนวนพนักงานในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการที่มีต่อประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบ"
"รวมถึงยังเป็นการรับรองว่าทรัพยากรจะถูกนำไปใช้ในที่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ดิฉันชื่นชมการทำงานของพนักงานราชการที่ทุ่มเท และการสนับสนุนของพวกเขาที่มีต่อกระทรวงตลอดมา"
แม็กแมน กล่าวต่อว่า การลดจำนวนพนักงานเป็นแนวทางปฏิบัติแรกในการยุบหน่วยงาน ซึ่งทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะต้องดำเนินการ แม้ว่าเธอจะยอมรับว่าการยุบหน่วยงานนี้ทั้งหมดจะต้องอาศัยกระบวนการของรัฐสภา โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เตรียมคำสั่งส่งไปยังฝ่ายบริหารเพื่อสั่งให้ แม็กแมน เริ่มกระบวนการยุบกระทรวง
เธอยังให้สัมภาษณ์กับ Fox News ด้วยว่า “จริง ๆ แล้วการเลิกจ้างนี้เป็นขั้นตอนแรกสู่การยุบกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือคำสั่งของประธานาธิบดีตามที่ดิฉันได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน ส่วนตัวแล้วดิฉันคิดว่า การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกำจัดสิ่งที่เป็นการขยายตัวของระบบราชการ”
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการยังเปิดเผยว่า มีพนักงานประมาณ 1,300 คนที่ได้รับเมลแจ้งการเลิกจ้าง โดยจะถูกเลิกจ้างภายใน 90 วัน ผู้ที่ถูกไล่ออกจะเริ่ม Work From Home ตั้งแต่วันพุธ พร้อมรับเงินเดือนตามปกติ และจะพักงานอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นไป โดยจะได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน
นอกเหนือจากพนักงานทดลองงานของกระทรวงศึกษาธิการฯ จำนวน 63 คน ที่ถูกไล่ออกตามคำสั่งของทำเนียบขาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีพนักงานมากกว่า 300 คน ที่ได้รับเงินช่วยเหลือกว่า 25,000 ดอลลาร์ หลังลาออกโดยสมัครใจ ขณะที่พนักงานประมาณ 260 คนยอมรับการลาออกแบบเลื่อนกำหนด
การลดจำนวนพนักงานดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลกลางประกาศเลิกจ้างในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของ ทรัมป์ และหน่วยงานกำกับดูแลประสิทธิภาพรัฐบาลที่นำโดย อีลอน มัสก์ ที่ต้องการลดขนาดของรัฐบาลกลางลง
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งเปิดเผยว่า การลดจำนวนพนักงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อความช่วยเหลือด้านการศึกษาของรัฐบาลกลางในทุกกรณี หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่หน่วยงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้หรือไม่ หลังลดจำนวนพนักงานจำนวนมากเช่นนี้
เจ้าหน้าที่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะ Work From Home ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 มีนาคม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และเพื่อเป็นการปกป้องพนักงานกว่า 2,183 คนที่ยังคงอยู่หลังการลดจำนวนพนักงานเสร็จสิ้น
ที่มา: CNN