หลังจากเมื่อวันที่ 18 มี.ค. รัฐบาลทรัมป์ ได้เปิดเผยเอกสารมากกว่า 31,000 หน้าที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งเป็นคดีที่ก่อให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดมานานกว่า 60 ปี ได้ทำให้หลายคนสงสัยใคร่รู้ว่า ข้อมูลที่เปิดมานี้ มีอะไรใหม่หรือไม่ และจะเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับคดีหรือเปล่า
เคนเนดีถูกสังหารที่ดัลลาส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 1963 โดย ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ วัย 24 ปี ซึ่งยิงเขาจากชั้นที่ 6 ของอาคาร Texas School Book Depository
ออสวอลด์ถูกสังหารเพียง 2 วันต่อมาโดย แจ็ก รูบี เจ้าของไนต์คลับ ระหว่างการย้ายเรือนจำ ขณะที่คณะกรรมการสืบสวนได้สรุปว่า ออสวอลด์ลงมือคนเดียวและไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่บ่งชี้ว่ามีใครอื่นเกี่ยวข้องด้วย
แต่คดีนี้มีเรื่องชวนเอ๊ะหลายจุด ทำให้ตลอด 60 กว่าปีที่ผ่านมา หลายคนไม่เชื่อคำอธิบายดังกล่าว และเกิดทฤษฎีต่าง ๆ นานา รวมทั้งเชื่อว่าอาจมีหลักฐานลับหลักฐานเด็ดที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาก่อน
การสำรวจของ Gallup ในปี 2023 พบว่า ชาวอเมริกัน 65% ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของคณะกรรมการสืบสวน
นั่นทำให้มีการจับตาว่าเอกสารที่ปล่อยออกมาใหม่ 31,000 หน้านี้จะมีข้อมูลอะไรใหม่ ๆ หรือไม่
แต่เป็นที่น่าเสียดาย เอกสารใหม่เหล่านี้มีหลักฐานจำกัดที่บ่งชี้ว่าคำอธิบายดั้งเดิมเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเจเอฟเคนั้นไม่ถูกต้องหรือให้ข้อมูลที่เข้าใจผิด แต่เอกสารที่เปิดเผยออกมาก็เผยให้เห็นว่า สหรัฐฯ รวบรวมข้อมูลข่าวกรองในช่วงสงครามเย็นได้อย่างไร เอกสารเหล่านี้ยังระบุรายละเอียดรายงานข่าวกรองเกี่ยวกับมือสังหารเคนเนดีด้วย
ยืนยันผลเดิม มีผู้ลงมือคนเดียว
เอกสารที่ถูกปล่อยออกมาไม่ได้สนับสนุนความถูกต้องของข้อสรุปอื่นใดนอกจากผลการค้นพบของคณะกรรมการชุดแรก
มาร์ก เซลเวอร์สโตน ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาด้านประธานาธิบดีที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย กล่าวว่า “ผมไม่เห็นอะไรเลยที่จะเปลี่ยนคำบอกเล่าเดิมที่ระบุว่าออสวอลด์เป็นมือปืนคนเดียวที่สังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี และไม่ใช่ผลจากการสมคบคิด เอกสารที่ผมเห็นนั้นบางอย่างก็ไม่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารด้วยซ้ำ”
มีข้อมูลมือสังหารเพิ่ม
เอกสารชุดใหม่ระบุว่า ออสวอลด์ซึ่งเชื่อว่าเป็นมือสังหาร ก่อนที่จะลงมือสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้เดินทางไปเยี่ยมสถานทูตของทั้งสหภาพโซเวียตและคิวบาในเม็กซิโกซิตี
เอกสารฉบับหนึ่งยังมีรายงานข่าวกรองพร้อมรายละเอียดบางส่วนเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ออสวอลด์อยู่ในสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาย้ายไปที่นั่นในปี 1959 แปรพักตร์และสละสัญชาติอเมริกัน ก่อนจะเดินทางกลับสหรัฐฯ ในปี 1962
เอกสารดังกล่าวกล่าวถึงเจ้าหน้าที่คณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐสหภาพโซเวียต หรือสายลับเคจีบี (KGB) ที่ชื่อ “นิคอนอฟ” ซึ่งได้ตรวจสอบไฟล์จากหน่วยงานความมั่นคงของสหภาพโซเวียตเพื่อพิจารณาว่าออสวอลด์เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวหรือไม่
รายงานการเฝ้าติดตามระบุว่า หน่วยข่าวกรองในสหรัฐฯ ยังเฝ้าติดตามออสวอลด์อย่างใกล้ชิดหลังจากที่เขากลับมาสหรัฐฯ รายงานจากช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งรวมอยู่ในเอกสารที่เผยแพร่ด้วย ระบุว่า “ออสวอลด์อาจเป็นมือปืนที่ยิงไม่แม่น”
เผยปฏิบัติการของซีไอเอเพิ่มเติม
เอกสารอื่น ๆ เปิดเผยรายละเอียดในวงกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมข่าวกรองของสหรัฐฯ และความพยายามด้านนโยบายต่างประเทศในยุคสงครามเย็น รวมถึงแคมเปญลับสุดยอดที่เรียกว่า “ปฏิบัติการมองกูส” ซึ่งออกแบบมาเพื่อทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบา
บันทึกช่วยจำอีกฉบับระบุว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 1,500 นายไปต่างประเทศ โดยแฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ
เอกสารฉบับดังกล่าวยังรวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ในการพยายามโค่นล้มรัฐบาลต่างประเทศด้วย แม้ว่ารายละเอียดเหล่านี้ส่วนใหญ่จะขยายความเกี่ยวกับความพยายามซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วของสหรัฐฯ ในการบงการการลอบสังหารหรือก่อรัฐประหารเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น พวกเขาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสื่อสารในปี 1963 ระหว่างสำนักงานผู้อำนวยการซีไอเอกับเจ้าหน้าที่ในคิวบาที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลของ ฟิเดล คาสโตร
เอกสารอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นบันทึกของ CIA เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการลับที่เรียกว่า E4DEED ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี ราฟาเอล ทรูฮิลโล แห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน
“ส่วนหนึ่งของ E4DEED เรียกว่า EMSLEW ซึ่งเป็นชื่อย่อของปฏิบัติการโค่นล้มทรูฮิลโลด้วยการใช้ความรุนแรง” เอกสารดังกล่าวระบุ พร้อมระบุชื่อเจ้าหน้าที่ซีไอเอและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว
เรียบเรียงจาก Al Jazeera