คณะลูกขุนในรัฐนอร์ทดาโคตา ประเทศสหรัฐฯ ตัดสินให้ "กรีนพีซ" องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังจ่ายเงินชดเชยมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แก่บริษัทน้ำมันในรัฐเท็กซัส เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการประท้วงต่อต้านเชื้อเพลิงฟอสซิลครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
โดยคำสั่งศาลดังกล่าวอาจทำให้ กรีนพีซ ต้องล้มละลายและต้องยุติการเคลื่อนไหว
คดีดังกล่าวยื่นฟ้องโดยบริษัท เอเนอร์จี ทรานสเฟอร์ (Energy Transfer) ยังกล่าวหากรีนพีซว่าบุกรุก สร้างความรำคาญ และสมคบคิดทางแพ่งในเหตุการณ์ประท้วงโครงการท่อส่งน้ำมันดาโกตาแอ็กเซส เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน คดีฟ้องร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐนอร์ทดาโคตาระบุว่า กรีนพีซอยู่เบื้องหลัง "แผนการที่ละเมิดกฎหมายและใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความเสียหายทางการเงินแก่บริษัท
ทีมกฎหมายของบริษัทเอเนอร์จี ทรานสเฟอร์ กล่าวระหว่างการแถลงปิดคดีว่า การกระทำของกรีนพีซก่อให้เกิดความเสียหายระหว่าง 265 ถึง 340 ล้านดอลลาร์ โดยได้เรียกกร้องคณะลูกขุนตัดสินให้บริษัทได้รับเงินจำนวนดังกล่าว รวมถึงค่าเสียหายเพิ่มเติมด้วย
โดยคณะลูกขุนตัดสินว่ากรีนพีซ ยูเอสเอ ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนใหญ่เกือบ 404 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่กรีนพีซ ฟันด์ (Greenpeace Fund) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดมทุนที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และกรีนพีซ อินเตอร์เนชันแนล (Greenpeace International) กลุ่มบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม จะต้องจ่ายเงินบริษัทละประมาณ 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเสียหายรวมอยู่ที่เกือบ 666.9 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท
กรีนพีซซึ่งประกาศว่าจะยื่นอุทธรณ์ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าอาจจะต้องล้มละลายเพราะคดีนี้ และส่งผลให้การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินมานานกว่า 50 ปีสิ้นสุดลง
สำหรับการประท้วงท่อส่งน้ำมันใกล้เขตสงวน สแตนดิง ร็อก ซู มีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก แต่กรีนพีซโต้แย้งว่าไม่ได้เป็นผู้นำการประท้วง และการฟ้องร้องดังกล่าวคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การก่อสร้างโครงการท่อส่งน้ำมันดาโกตาแอ็กเซส ได้รับความสนใจจากนานาชาติในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยแรก เนื่องจากกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันตั้งค่ายเพื่อพยายามปิดกั้นไม่ให้ท่อส่งน้ำมันผ่านบริเวณเขตสแตนดิงร็อก
การประท้วงซึ่งมีทั้งการใช้ความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2016 และสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 เมื่อกองกำลังป้องกันมาตุภูมิและตำรวจเคลียร์พื้นที่ที่ผู้ประท้วงปักหลัก
โดยในช่วงหนึ่ง เคยมีผู้ประท้วงกว่า 10,000 คนรวมตัวอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมประกอบด้วยชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันกว่า 200 เผ่า ทหารผ่านศึกสหรัฐฯ หลายร้อยนาย นักแสดง และผู้นำทางการเมือง รวมถึงโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐฯ คนปัจจุบัน