โรเชลล์ คอนสแตนติน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เชื่อมาโดยตลอดว่า มหาสมุทรคือสถานที่ที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่มีใครเคยพบเห็น
แต่เธอก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าในชีวิตนี้เธอจะได้เห็นภาพ “หมึกยักษ์ขี่ฉลาม”
ภาพนี้ถูกบันทึกไว้ได้ในเดือน ธ.ค. 2023 ขณะที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์กำลังศึกษาพฤติกรรมการกินของสัตว์น้ำในอ่าวฮาอูรากี (Hauraki) นอกชายฝั่งทางเหนือของนิวซีแลนด์ แต่เพิ่งมีการนำภาพมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา
นักวิจัยพบหมึกยักษ์เมารี (Macroctopus maorum) สีส้มสดใส กำลังเกาะอยู่บนหลังของฉลามมาโกครีบสั้น (Isurus oxyrinchus)
ในตอนแรก คอนสแตนตินสับสนกับสิ่งที่เธอเห็น โดยคิดว่าจุดสีส้มบนหัวของฉลามอาจเป็นบาดแผล “ตอนแรก ฉันคิดว่า มันเป็นทุ่นหรือเปล่า หรือมันไปพันกับอุปกรณ์ตกปลา หรือมันถูกกัดจนบาดเจ็บ”
ช่างเทคนิคในทีมวิจัยจึงปล่อยโดรนขึ้นไปเพื่อดูใกล้ ๆ และเมื่อพวกเขาเข้าไปใกล้ขึ้น สิ่งแรกที่พวกเขาเห็นคือ “หนวดหมึก” พวกเขาจึงรู้ในทันทีว่า นี่คือฉลามที่มีหมึกเกาะอยู่
คอนสแตนินกล่าวว่า หมึกยักษ์เมารีเป็นหมึกยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ “คุณจะเห็นว่ามันกินพื้นที่บนหัวฉลามไปมากทีเดียว” และเสริมว่า โดยปกติแล้วหมึกยักษ์เมารีจะพบได้บนพื้นทะเล ขณะที่ฉลามมาโกครีบสั้นเองก็ไม่ค่อยเข้ามาในเขตอ่าวฮาอูรากี ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแปลกประหลาดอย่างมาก
“เราดูสถานการณ์อยู่ประมาณ 10 นาที ดังนั้นฉันบอกไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น อย่างไรก็ตาม หมึกยักษ์อาจได้รับประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น เนื่องจากฉลามมาโกครีบสั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดในโลก สามารถทำความเร็วได้ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” คอนสแตนตินบอก
เธอกล่าวว่า การพบที่ไม่ธรรมดานี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มหาสมุทรและสัตว์ทะเลส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงบทบาทสำคัญและความหลากหลายของฉลามในระบบนิเวศทางทะเล
“การเผชิญหน้า ‘หมึกหลาม’ ครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงความมหัศจรรย์ของมหาสมุทร ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลก็คือ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราอาจพบเห็นอะไรในท้องทะเล การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าช่วงเวลาพิเศษเช่นนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” คอนสแตนตินกล่าว
เรียบเรียงจาก The Guardian