สุดตื่นตา! กล้อง “เจมส์ เว็บบ์” ไขความลับ “พายุทอร์นาโดจักรวาล”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ เผยภาพสวยงามของ “พายุทอร์นาโดจักรวาล” ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์เกิดใหม่ในกลุ่มดาวกิ้งก่า

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) ขององค์การอวกาศนาซา (NASA) ได้ถ่ายภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของ “พายุทอร์นาโดจักรวาล” (Cosmic Tornado) ที่พุ่งออกมาจากดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่

ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นก๊าซร้อนที่ไหลออกมาจากดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งเรียกกันว่า “วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโร” (Herbig-Haro) อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 625 ปีแสงในกลุ่มดาวกิ้งก่า (Chamaeleon)

คอนเทนต์แนะนำ
“นาซา” ยกเลิกแผนส่งนักบินอวกาศหญิง-นักบินอวกาศผิวสีไปเหยียบดวงจันทร์
9 เดือนที่รอคอย สองนักบินอวกาศนาซาที่ติดอยู่บน ISS เดินทางกลับถึงโลกแล้ว!

กล้อง “เจมส์ เว็บบ์” ไขความลับ “พายุทอร์นาโดจักรวาล” NASA, ESA, CSA, STScI.
“พายุทอร์นาโดจักรวาล” หรือ “เฮอร์บิก-ฮาโร 49/50” ในกลุ่มดาวกิ้งก่า

วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรเป็นวัตถุคล้ายเนบิวลาที่มีความสว่าง ก่อตัวขึ้นเมื่อไอพ่นของก๊าซที่แตกตัวเป็นไอออนพุ่งออกมาจากดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่แล้วพุ่งชนกับสสารระหว่างดวงดาวที่อยู่รอบ ๆ ด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที

คลื่นกระแทกของก๊าซที่กระทบกับสสารนี้ทำให้ก๊าซร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ก๊าซเรืองแสงในช่วงแสงที่มองเห็นและช่วงแสงอินฟราเรด ทำให้วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรมีลักษณะที่สว่างและดูคล้ายฟองอากาศ

วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรมักพบในบริเวณที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์ เพราะเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นและมีก๊าซมาก มนุษย์พบวัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แต่ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการว่าเป็นวัตถุประเภทหนึ่งโดยนักดาราศาสตร์ จอร์จ เฮอร์บิก และกิเยร์โม ฮาโร ในช่วงทศวรรษปี 1940 จึงเป็นที่มาของชื่อวัตถุเหล่านี้

ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ค้นพบวัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรมากกว่า 1,000 แห่งในบริเวณที่มีการก่อตัวของดาวต่าง ๆ ในกาแล็กซีของเรา

สำหรับวัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรที่ เจมส์ เว็บบ์ ถ่ายมานี้ มีชื่อว่า “เฮอร์บิก-ฮาโร 49/50” (HH 49/50) เป็นภาพผสมจากภาพที่ถ่ายด้วยเครื่องมือ 2 ตัวของ เจมส์ เว็บบ์ได้แก่ กล้องอินฟราเรดระยะใกล้ (NIRCam) และเครื่องมืออินฟราเรดระยะกลาง (MIRI) โดยสีในภาพแสดงเป็นความยาวคลื่นของแสงอินฟราเรดซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซา ซึ่งปัจจุบันได้ปลดระวางไปแล้ว ค้นพบเฮอร์บิก-ฮาโร 49/50 เป็นครั้งแรกในปี 2006 และได้รับการขนานนามว่าเป็น “พายุทอร์นาโดจักรวาล” เนื่องจากมีลักษณะเหมือนกรวย เฮอร์บิก-ฮาโร

ในภาพของ เจมส์ เว็บบ์ จะเห็น HH 49/50 เป็นกลุ่มคลื่นกระแทก แสดงให้เห็นการเคลื่อนที่ของก๊าซในอวกาศออกจากดาวฤกษ์แรกกำเนิด

นาซาระบุว่า “การสังเกตการณ์ในบริเวณนี้ในอดีตแสดงให้เห็นว่า กระแสก๊าซที่ไหลออกของ เฮอร์บิก-ฮาโร 49/50 กำลังเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 100-300 กิโลเมตรต่อวินาที”

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวฤกษ์แรกกำเนิดที่สร้างก๊าซไหลออกจนก่อให้เกิดเฮอร์บิก-ฮาโร 49/50 คือดาวฤกษ์เกิดใหม่ชื่อ “Cederblad 110 IRS4” ซึ่งอยู่ห่างจากเฮอร์บิก-ฮาโร 49/50 ไปประมาณ 1.5 ปีแสง

ดาวฤกษ์ดวงนี้จัดอยู่ในประเภทดาวฤกษ์คลาส I ซึ่งหมายความว่าเป็นดาวฤกษ์ที่ค่อนข้างอายุน้อย โดยมีอายุประมาณ 100,000 ปีเท่านั้น และมักถูกปกคลุมด้วยก๊าซและฝุ่นหนาแน่น”

นาซากล่าวว่า “เฮอร์บิก-ฮาโร 49/50 ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงช่วงแรกของการก่อตัวของดาวฤกษ์มวลน้อยที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา ลักษณะที่ซับซ้อนของการไหลออกของก๊าซซึ่งแสดงเป็นสีส้มอมแดงนั้น ให้เบาะแสโดยละเอียดว่า การก่อตัวของดาวฤกษ์อายุน้อยและกิจกรรมของเจ็ตของดาวฤกษ์ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างไร”

 

เรียบเรียงจาก NASA / Live Science

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ