เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศ เปิดเผยว่า รัฐบาลฝรั่งเศสยังคงเดินหน้าผลักดันการส่งกำลังทหารจากชาติยุโรปเข้าไปประจำการในยูเครน โดยได้เสนอแผนจัดตั้ง "กองกำลังแห่งหลักประกัน" (reassurance fronts) เพื่อดูแลสถานการณ์ในยูเครน หากมีข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ผู้นำฝรั่งเศสยังยืนยันว่ามาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจะยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงที่แท้จริง
การประกาศแผนดังกล่าวของมาครงเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 30 ชาติ รวมถึงผู้บริหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต และสหภาพยุโรป หรืออียู เข้าร่วมการประชุมกันในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 27 มี.ค. เพื่อหารือถึงการส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนและการส่งกำลังทหารจากชาติยุโรปเข้าไปทำหน้าที่รักษาสันติภาพ
ประธานาธิบดีมาครงระบุว่า "กองกำลังแห่งหลักประกัน" นี้จะทำหน้าที่ป้องปรามความแข็งกร้าวจากรัสเซีย โดยจะประจำการตามเมืองและฐานที่มั่นที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ของยูเครน แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาสันติภาพ เนื่องจากไม่ใช่กองกำลังที่ทำหน้าที่แทนกองทัพยูเครน และจะไม่ประจำการอยู่ในแนวหน้าของการสู้รบ
โดยกองกำลังแห่งหลักประกันจะเกิดขึ้นในกรณีที่รัสเซียและยูเครนบรรลุข้อตกลงยุติสงคราม ซึ่งคณะเสนาธิการเหล่าทัพของประเทศต่าง ๆ จะหารือกันในเดือนหน้า เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบและพิกัดของการวางกำลังทหารภายใต้แผนการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้นำฝรั่งเศสยอมรับว่ามีบางประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในกรุงปารีสไม่เห็นด้วย แต่ยืนยันว่าการผลักดันให้แผนการนี้เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศ พร้อมทั้งแสดงความหวังว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนการส่งกำลังทหารจากขาติยุโรปเข้าสู่ยูเครน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาครงยังย้ำว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย แม้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัสเซียเรียกร้องจากชาติตะวันตก เพื่อแลกกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขหยุดยิงในทะเลดำ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นหลังการพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายสหรัฐฯ ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยผู้เข้าร่วมการประชุมที่กรุงปารีสมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ามาตรการคว่าบาตรต่อรัสเซียควรเดินหน้าต่อไป และอาจต้องยกระดับความเข้มข้นเพื่อกดดันให้รัสเซียเจรจายุติสงครามอย่างจริงใจ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ เรียกร้องให้มีการกำหนดกรอบเวลาและเส้นตายการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างชัดเจน โดยได้วิจารณ์ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียกำลังเล่นเกมและซื้อเวลา หลังจากเรีัยกร้องให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ส่วนความเคลื่อนไหวในรัสเซียเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ประธานาธิบดีปูตินได้แสดงความเห็นว่ายูเครนอาจมีรัฐบาลชั่วคราวเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่และลงนามในสัญญาสำคัญ ๆ ที่นำไปสู่การยุติความชัดแย้ง
ประธานาธิบดีปูตินย้ำว่า ยูเครนจำเป็นต้องมีรัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย ที่มีอำนาจในการลงนามเอกสารระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายรัสเซียได้ปฏิเสธความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำยูเครนของ ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เนื่องจากสิ้นสุดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2024