“อี แจ-มยอง” คือใคร? ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ทำความรู้จัก “อี แจ-มยอง” หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน จากเด็กยากจนที่ต้องออกจากโรงเรียน สู่ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้

ผลออกมาแล้วว่า “อี แจ-มยอง” จากพรรคประชาธิปไตย (DPK) เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะศึกเลือกตั้ง 2025 คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ ผู้มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ จากเด็กที่มีฐานะยากจนข้นแค้น สู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง

อี แจ-มยอง เกิดในปี 1963 ปัจจุบันอายุ 61 ปี แต่ไม่มีใครรู้วันเกิดที่แน่นอนของเขา เนื่องจากกว่าพ่อแม่ของเขาจะไปจดทะเบียนแจ้งเกิดก็ใช้เวลาไปราว 1 ปี เช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ จำนวนมากที่ไม่แน่ใจว่าลูกของตัวเองจะรอดชีวิตหรือไม่ จากอัตราการเสียชีวิตของทารกที่สูงลิ่วในยุคนั้น

คอนเทนต์แนะนำ
“อี แจ-มยอง” ผู้นำฝ่ายค้าน คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
นายกฯ มองโกเลียลาออก เซ่นปมลูกเที่ยวหรูจนเกิดการประท้วงใหญ่
ความสวยงามจากอีกมุมมอง! นักบินอวกาศถ่ายภาพ “ฟ้าแลบ” จากอวกาศ

“อี แจ-มยอง” คือใคร? ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ AFP/AHN YOUNG-JOON/POOL
อี แจ-มยอง หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (DPK) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่

ช่วงวัยเด็กของอีเต็มไปด้วยความอดอยากและความยากลำบาก ซึ่งเขามักบอกว่า จุดเริ่มต้นที่แสนต่ำต้อยนี้เองที่หล่อหลอมความเชื่อแบบหัวก้าวหน้าของเขา โดยเขาเคยกล่าวในปี 2022 ว่า “ความยากจนไม่ใช่บาป แต่ผมมักจะอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อความอยุติธรรมที่ผมประสบเพราะความยากจน”

เขาเสริมในเวลานั้นว่า “เหตุผลที่ผมอยู่ในวงการการเมืองตอนนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังคงทุกข์ทรมานจากความยากจนและความสิ้นหวัง ที่ผมสามารถหลีกหนีออกมาได้ โดยการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและโลกที่มีความหวัง”

อีเป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่เพิ่งเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อย้ายไปทำงานในโรงงานที่ซองนัม เมืองบริวารของโซล และหางานทำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

แต่เมื่ออายุ 15 ปี อีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่โรงงานผลิตถุงมือเบสบอล ทำให้เขาไม่สามารถเหยียดแขนซ้ายได้เป็นการถาวร

แม้จะออกจากโรงเรียน แต่อีไม่ได้หลุดจากระบบการศึกษา เขาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายด้วยการอ่านหนังสือสอบนอกเวลาทำงาน และในปี 1982 ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยจุงอังในกรุงโซล เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและผ่านการสอบเนติบัณฑิตในอีก 4 ปีต่อมา และประกอบอาชีพเป็นทนายความและนักกฎหมาย

อีเป็นที่รู้จักในฐานะนักกฎหมายผู้ปกป้องสิทธิของผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเหยื่อของอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมและผู้อยู่อาศัยที่ต้องถูกขับไล่เนื่องจากโครงการพัฒนาเมืองใหม่

ในปี 2006 อีได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเป็นครั้งแรก ด้วยการลงสมัครชิงนายกเทศมนตรีเมืองซองนัม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และ 2 ปีต่อมา เขาก็ได้ลงสมัครชิงที่นั่งในสภาเมือง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

กระทั่งปี 2010 เขาก้าวเข้าสู่วงการการเมืองสำเร็จโดยชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองซองนัมในความพยายามครั้งที่ 2 และได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยในอีก 4 ปีต่อมา

ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2021 อีดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดคยองกี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ

ขณะอยู่ในฐานะนายกเทศมนตรีและผู้ว่าการ อีได้รับความสนใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนามใหญ่ จากการประกาศนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมหลายชุด รวมถึงนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

หลังจากลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ อีได้เข้าสู่เวทีระดับประเทศในฐานะผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 ซึ่งเขาแพ้ให้กับ ยุน ซอกยอล จากพรรคพลังประชาชน (PPP) ด้วยคะแนนเสียงที่ต่างกันเพียง 0.73% ซึ่งถือเป็นคะแนนเสียงที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้

อียังพาพรรคประชาธิปไตยทำผลงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อปีที่แล้ว โดยสามารถคว้าที่นั่งได้ 173 ที่นั่งจากทั้งหมด 300 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

หลังจากที่ยุนถูกถอดถอนและถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีจากกรณีการประกาศกฎอัยการศึกในเดือน ธ.ค. 2024 อีได้รับการเสนอชื่อจากพรรคประชาธิปไตยอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งขั้นต้นเกือบ 90%

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด อี แจ-มยอง เลือกใช้บุคลิกที่เน้นปฏิบัติจริงมากขึ้น และลดนโยบายเศรษฐกิจประชานิยม ซึ่งเคยเป็นจุดเด่นที่ทำให้เขาก้าวขึ้นสู่ความโดดเด่นระดับประเทศ

ในฐานะประธานาธิบดี อีได้ให้คำมั่นว่า จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โดยเสนอให้เพิ่มการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แนะนำให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันครึ่ง และลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ปกครองตามจำนวนบุตรที่พวกเขามี

ในด้านกิจการต่างประเทศ เขาสัญญาว่า จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือในขณะที่ผลักดันให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ โดยยึดตามจุดยืนดั้งเดิมของพรรคประชาธิปไตย และรักษาพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีโดยไม่ทำให้จีนและรัสเซียไม่พอใจ

อย่างไรก็ดี อี แจ-มยอง ต้องเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองและเรื่องส่วนตัวมากมาย ซึ่งจบลงด้วยคดีความอย่างน้อย 5 คดี เช่น ข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง และเรื่องอื้อฉาวการทุจริตที่ดิน

แต่หลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี อีก็แทบจะแน่ใจได้เลยว่าจะไม่ต้องขึ้นศาลในช่วงดำรงตำแหน่ง 5 ปี เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งจะได้รับเอกสิทธิ์ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ยกเว้นในกรณีที่เกิดการกบฏหรือการทรยศต่อประเทศ

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ