วันนี้ (11พ.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง กระทั่งผ่านไป 15 ปี พบว่าติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งทางโรงพยาบาลออกเอกสารแสดงความเสียใจ ระบุว่า ได้รับเลือดจากสภากาชาดไทย
ล่าสุด แพทย์หญิงจารุพร พรหมวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ พร้อมนายเกรียงศักดิ์ ไชยวงศ์ หัวหน้าตรวจฝ่ายคัดกรองโลหิตสภากาชาดไทย ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากการตรวจสอบผู้ป่วยดังกล่าวรับบริจาคเลือด ประมาณปี 2547 ซึ่งสมัยนั้นทางสภากาชาดไทยมีระบบการคัดกรองแบบตรวจน้ำเหลืองก่อนจะตรวจดีเอ็นเอ และเป็นระบบที่ยังไม่ทันสมัย ทำให้ไม่สามารถแยกแยะหรือคัดกรองได้ว่าเลือดที่ได้รับบริจาคมานั้นมีระยะการฟักตัวของเชื้อโรคประเภทใดบ้าง ทำให้ผู้ที่ได้รับบริจาคโลหิตมีโอกาสเสี่ยงที่จะรับเชื้อโรคบางชนิดได้ ทั้งโรคร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ปัจจุบันทางสภากาชาดไทยมีระบบการตรวจคัดกรอง ทั้งแบบตรวจดีเอ็นเอ ตรวจอาร์เอ็นเอ ตรวจระบบน้ำเหลือง หรือที่เรียกว่า ซีโรโรจี้ ควบคู่กันไป ก่อนจะนำเลือดเข้าตรวจห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในโซนยุโรป ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้รับบริจาค
รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในเลือดยังมีข้อจำกัด กรณีที่ผู้บริจาคเพิ่งได้รับเชื้อเข้ามาใหม่ ซึ่งในเลือดจะมีปริมาณเชื้อไม่มากพอที่จะตรวจพบได้ด้วยวิธีใด ๆ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อเหล่านี้ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมากและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้บริจาคต้องกรอกแบบสอบถาม และให้สัมภาษณ์ด้วยความเป็นจริง และตรงไปตรงมา เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง