สำหรับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)
พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 เหล่าทหารม้า
หลังจากจบการศึกษาในปี 2484 ท่านได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง
ภายหลังสงคราม พล.อ.เปรม เข้ารับราชการอยู่ที่จ.อุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี พร้อมกับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ เมื่อสำเร็จการศึกษา ท่านกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จ.สระบุรี
พล.อ.เปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพล.ต. เมื่อปี 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า ลูกป๋า
ต่อมา พล.อ.เปรม เลื่อนตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพล.อ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521
ย้อนกลับไปในปี 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วงปี 2511 – 2516 ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
พล.อ.เปรม ได้เข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ต.ค. 2520 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร
พล.อ. เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ท่านได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
ในช่วงนั้น พล.อ.เปรม ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพล.อ.เกรียงศักดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย
ตลอดระยะเวลาของพล.อ.เปรมในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ
ที่สำคัญ ได้แก้ปัญหาความมาสงบจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยท่านได้นำนโยบาย "การเมืองนำการทหาร"มาใช้ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและ ยอมวางอาวุธกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย
พล.อ.เปรม ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 4 ส.ค. 2531 รวมทั้งสิ้นเป็น 8 ปี 5เดือน บุคลิกส่วนตัวเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้ และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 ส.ค. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 ส.ค. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 ส.ค. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
ปรากฏตัว !! “บิ๊กป้อม” ร่วมรดน้ำ “ป๋าเปรม”
ป๋าเปรมขอบคุณบิ๊กตู่อวยพรวันเกิด ระบุจะช่วยทำทุกอย่าง